นิวยอร์คไทม์สได้เผยแพร่บทบรรณาธิการที่ชื่อว่า "เล่ห์กลและการผิดคำสัญญาในประเทศไทย"
บทบรรณาธิการชิ้นนี้ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้กล่าวถึงการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกของไทย โดยหันมาใช้อำนาจที่เด็ดขาดยิ่งกว่าเดิมของรัฐบาลทหารไทย ซึ่งผู้เขียนเปรียบว่าไม่ต่างจากการ "เล่นกลล่อลวงคนดู"
ผู้เขียนอ้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่พันธมิตรของไทยต้องการ
หลังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกที่ถูกใช้มาตั้งแต่ การรัฐประหารที่มีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และไม่ควรมีใครหลงกลกับการกระทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ต่างจากการเอาใบต้นมะเดื่อมาอำพรางความน่าอับอายทาง การเมืองเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติและกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากประกันการท่องเที่ยวไม่คุ้มครองในประเทศที่มีการใช้กฎอัยการศึก โดยมิได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการฟื้นฟูประชาธิปไตยแต่อย่างใด
(ทั้งนี้ ตามอิทธิพลจากคัมภีร์ไบเบิล ใบมะเดื่อถูกนำมาใช้ในสำนวนเพื่อสื่อถึงการปิดบังความน่าอับอาย)
ผู้เขียนระบุด้วยว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้แทนที่อำนาจตามกฎอัยการศึกด้วยการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งด้านบริหาร,ตุลาการ และนิติบัญญัติ ให้กับตัวเอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยคำสั่งหนึ่งภายใต้มาตรา 44 ได้กำหนดให้นายทหารตั้งแต่ยศร้อยตรี, เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีอำนาจในการตรวจค้น จับกุม และกักขังประชาชน โดยไม่มีองค์กรตุลาการคอยตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งนับแต่การยึดอำนาจเป็นต้นมามีประชาชนนับพันราย ทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม นักการเมือง และผู้แสดงความเห็นในพื้นที่สื่อต่างๆ ที่ถูกจับตัวไปกักขัง หรือถูกนำตัวไป "ปรับทัศนคติ"
ผู้เขียนยังอ้างว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายเดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ
ได้นำข้อความจากประธานาธิบดีโอบามามาเตือนรัฐบาลทหารของไทยว่า "ไทยกำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาของมิตรประเทศ และหุ้นส่วนระดับนานาชาติจากการไม่พยายามยุติการใช้กฎอัยการศึกอย่างรวดเร็ว"
สุดท้ายบทบรรณาธิการชิ้นนี้ได้กล่าวว่าผู้นำไทยดูเหมือนจะได้ยินแต่เสียงเรียกร้อง
เกี่ยวกับกฎอัยการศึกแต่จงใจไม่รับฟังเนื้อหาส่วนอื่นๆที่เรียกร้องให้ ฟื้นฟูการให้ความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของคนต่างภูมิภาคที่กลายเป็นปัญหาหมักหมมของ การเมืองไทย และเสี่ยงที่จะทำให้ไทยในฐานะขั้วอำนาจหลักในภูมิภาคกลายเป็นประเทศที่ไม่มี ใครคบหาแทน