“เสธ.อู้”ซัดพวกความเห็นต่าง เป็นพวกไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยันเลือกตั้งระบบเยอรมัน ไม่ซับซ้อน พร้อมเปิดรับความเห็น สปช. ปรับแก้ รธน.
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ทักท้วงถึงการนำระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมนีมาใช้เนื่องจากทำ ให้เข้าใจยาก ว่า ยืนยันว่าระบบสัดส่วนผสมไม่ได้ใช้ในประเทศเยอรมนีเท่านั้น ที่ใช้มา 66 ปีแล้ว โดยมี 9 ประเทศทั่วโลกก็ใช้ระบบนี้ ไม่ได้มีความซับซ้อน ข้อดีของระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.ตามความนิยมของประชาชาชน ไม่เกิดความยุ่งยาก และยังไม่เห็นว่าระบบนี้จะไม่ดีอย่างไร เพราะการกำหนดเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น การซื้อเสียงก็ยากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็เพราะยังยึดติดเรื่องเดิม ๆ พอเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ยอมรับ
พล.อ. เลิศรัตน์ กล่าวว่า อีกทั้งระบบบัญชีรายชื่อ 6 ภาค ให้จัด 6 บัญชี มี ส.ส.200 คน
ก็คล้ายกับการแบ่งบัญชีรายชื่อใน 8 กลุ่มจังหวัดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่การกำหนดให้ใช้บัญชีรายชื่อ 6 ภาค จะทำให้ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าใช้เขตประเทศยืนยัน ระบบนี้จะไม่ทำให้พรรคการเมืองใดเสียเปรียบ และทำให้พรรคขนาดเล็กได้ ส.ส.และเกิดรัฐบาลผสม แต่สิ่งที่น่ากังวลในระบบสัดส่วนผสมคือการกำหนดให้ได้คุณสมบัตินักการเมือง ที่ดี ถ้านักการเมืองตั้งใจพัฒนาตนเอง ก็จะทำให้ประชาชนเลือกผู้แทนตามบัญชีที่ได้เลือกไว้ โดยทุกประเทศใช้ระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนระบบโอเพ่นลิสต์ที่ให้อำนาจประชาชนจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ลงในระบบบัญชีรายชื่อ
เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิจัดผู้สมัครมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาให้อำนาจพรรคการเมืองกำหนดตัวผู้สมัคร โดย กมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังความเห็น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ประชาชนจัดบัญชีผู้สมัครก็พร้อมยกเลิกได้ ส่วนที่สมาชิก สปช.เตรียมชำแหละระบบสัดส่วนผสม และระบบโอเพ่นลิสต์นั้น ก็ขอยืนยันว่าไม่มี สปช.ชำแหละประเด็นนี้ จะมีแต่แสดงความเห็น ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯ พร้อมจะรับฟังทุกความเห็น ถ้าเกิดนำไปใช้แล้วล้มเหลว ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ โดย กมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังความเห็น สปช.ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปรับแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน.