ยังคงมีความเห็นต่อเนื่องกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และอัยการสูงสุด (อสส.) หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหายแก่รัฐ ทั้งที่ในรายงานของป.ป.ช.ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทุจริต หรือสมยอมให้ผู้ใดทุจริต
นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาให้ความเห็นเรื่องนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคมว่า
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 บัญญัติ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมาย แบ่งการกระทำไว้ 4 ประการ คือ
1.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด 2.เป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด 3. เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและ 4.เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
“น.ส.ยิ่งลักษณ์และที่ปรึกษากฎหมาย ไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และที่อสส.ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาฯ เป็นการชี้มูลและฟ้องคือเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลและอสส.ไม่ได้ฟ้องกล่าวหาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือสมยอมให้มี การทุจริต ตามข้อ 3 และข้อ 4 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ชี้มูลว่ามีการทุจริต ศาลฎีกาฯก็ลงโทษในประเด็นเรื่องทุจริตไม่ได้ เพราะต้องยึดถือสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลัก”นายชูชาติกล่าว
และว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดในประเด็นนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนที่สนับสนุนตน เองและประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนใช่หรือไม่
เพราะมีประชาชนส่วนหนึ่งพูดอยู่ตลอดเวลาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทุจริตแต่ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์และญาติพี่น้องต่างรู้ดีอยู่แก่ใจว่า รัฐบาลที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้นำได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติหรือทำเพื่อประโยชน์ของ ตนเองและญาติพี่น้อง
นายแก้วสรร อติโพธิ์ แกนนำไทยสปริงกล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างโครงการจํานําข้าว เป็นนโยบายจากฉันทามติของประชาชน
อีกทั้ง เป็นคดีที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเกษตรกรและประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีผลต่อบรรทัดฐานและการตัดสินใจในการจัดทํานโยบายช่วยเหลือประชาชนใน อนาคตว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่น.สยิ่งลักษณ์ระบุเป็นคดีสําคัญที่จะมีผลต่อเสรีภาพ จัดทํานโยบายของรัฐ ถ้าศาลจะตัดสินเช่นใดก็ต้องมีหลักเกณฑ์มาอธิบายชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิดที่ ตรงไหน ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ส่วนที่อ้างว่าเป็นฉันทามติของประชาชน อะไรที่เสนอเป็นนโยบายเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งย่อมศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายเอาผิดไม่ได้ ความคิดที่ถือเอาหีบเลือกตั้งเป็นกฎหมายสูงสุดนี้ นักกฎหมายอย่างตนยอมรับไม่ได้
นายแก้วสรรกล่าวอีกว่า โครงการจํานําข้าวที่ทำกันมาหลายรัฐบาล โดยมีการรับจํานําจริงเพื่อพยุงราคาข้าวในตลาด
ไม่ใช่เข้าไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดอย่างรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ทำในราคาสูงถึง 1.5 หมื่นบาท ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 กําหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้ทุกรัฐบาลต้องยึดถือไว้ ในมาตรา 84 (1) ระบุว่ารัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไกการตลาด คือ ถ้าไม่ใช่เรื่องรักษาความมั่นคง ประโยชน์ส่วนรวม หรือให้บริการสาธารณะแล้ว รัฐอย่าเข้าไปประกอบการใดๆ และ84(8) ระบุให้รัฐดูแลประโยชน์ชาวนาในตลาด โดยส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งรัฐทําได้เพียงช่วยส่งเสริมราคาในตลาดคือ รับจํานําในราคาที่สูงกว่าตลาดตามสมควรพอที่จะดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้นเท่า นั้น ไม่ใช่ไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดแทนตลาดอย่างที่ทําไป จนการเงินการคลังของประเทศเสียหายกว่า 7 แสนล้านเช่นทุกวันนี้
ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยกฟ้องคดีจํานําข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว นายแก้วสรรกล่าวว่า
ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพียงว่าไม่มีกฎหมายให้อํานาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่ง ระงับนโยบายใดของรัฐบาลได้ แต่ไม่ได้บอกว่านโยบายนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในทางแพ่งถ้าพิสูจน์ความรับผิดได้ต่อไปว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจหรือ เลินเล่อร้ายแรง คนในรัฐบาลก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและความรับผิดแล้ว
“สำหรับคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ใน มาตรา 157 การจะลงโทษคนถึงติดคุกได้ ต้องเป็นการใช้อํานาจหรือละเว้นหน้าที่โดยจงใจกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นเสีย หาย หรือโดยทุจริต ตรงนี้ยังไม่ทราบฐานคําฟ้องของอสส.และ ป.ป.ช.ว่าฟ้องตามฐานใดด้วยพยานหลักฐานที่ฟังได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้คือจุดชี้ขาดคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหนีหรือไม่ คดีนี้เป็นคดีคอร์รัปชั่น คดีทําบ้านเมืองเสียหายเป็น 7 แสนล้าน ถ้าพยานหลักฐานถึงติดคุกได้ก็สมควรแล้ว”นายแก้วสรร ระบุ