"สุริยะใส" แนะนายกฯ ประกาศทำประชามติ ป้องกันสังคมสับสน ชี้แม้แต่ กมธ.ยกร่าง-สปช. ยังไม่มีใครยืนยันร่าง รธน.จะถูกประกาศใช้ ส่งผลให้สังคมแคลงใจ ไม่เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า
อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เร่งตัดสินใจว่ารัฐบาลจะให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่ เพราะการปล่อยให้อึมครึมโดยที่นายกฯ ไม่เคยแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะจัดให้มีประชามติหรือไม่นั้น ทำให้สังคมสับสนและไม่มั่นใจว่าขั้นตอนสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมี หน้าตาอย่างไรกันแน่ ที่น่าห่วงและอาจทำให้สังคมสับสนมากคือนายกฯ มักจะบอกว่าอย่าเถียงกันเอาเป็นเอาตาย หรือวิตกกังวลในสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากเกินไป เพราะสุดท้ายอยู่ที่ คสช. และรัฐบาลว่าจะปรับแก้อย่างไรนั้น การส่งสัญญานแบบนี้ทำให้หลายฝ่าย หรือแม้แต่ สปช.หรือ กมธ.ยกร่างฯ เองก็ไม่มั่นใจ และยืนยันกับสังคมไม่ได้เหมือนกันว่า เนื้อหาสาระที่เดินสายอธิบายความ จัดเวทีรับฟังกันอยู่ในขณะนี้ หรือร่างกันเสร็จแล้วจะปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือจะถูกบังคับใช้หรือไม่ หรือ คสช.มีพิมพ์เขียวอีกฉบับหนึ่งอยู่แล้ว
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า แต่หากนายกฯ ประกาศให้ชัดเจนว่าจะจัดให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ
ตนเชื่อว่าจากนี้ไปกระบวนการประชาพิจารณ์ หรือการแปรญัตติ จะมีความหมาย และดึงการมีส่วนร่วม ดึงความสนใจจากประชาชนได้มากขึ้น การทำประชามติ นอกจากจะเป็นเกราะกำบังให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกรื้อตามใจชอบแล้ว ยิ่งลดข้อครหาสืบทอดอำนาจได้อีกด้วย เพราะรัฐบาลชุดนี้บอกตลอดเวลาว่าไม่คิดจะอยู่ต่อ ยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องถ่ายโอนการปฏิรูปมาให้สังคม และประชาชนขับเคลื่อนต่อ เพราะการลงประชามติถือเป็นกระบวนการปลายเปิดให้สังคมตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นตามมา สังคมไทยได้สร้างมาตรฐานของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไว้สูงมากในรัฐธรรมนูฉบับ 2540 และ 2550 ฉะนั้นรอบนี้มาตรฐานของการมีส่วนร่วมก็ไม่ควรน้อยไปจากเดิม.