2 พรรคใหญ่ ค้านระบบโอเพ่นลิสต์!!

2 พรรคใหญ่ ค้านระบบโอเพ่นลิสต์!!

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดเจตนารมณ์ในมาตรา105ให้การเลือกตั้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นแบบโอเพ่นลิสต์ ว่า ตนได้คุยเรื่องนี้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้วมีความเห็นตรงกันว่า เราไม่เห็นด้วย ซึ่งในรายละเอียดอาจมีเรื่องที่ต้องคุยกัน จึงอยากฝากถึงกมธ.ยกร่างฯ และ คสช.ว่า ถ้าอยากจะใช้ระบบนี้ เราจะเจอปัญหามาก การกำหนดโอเพ่นลิสต์จะทำให้พรรคการเมืองทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่มีปัญหา เกิดความขัดแย้ง และไม่มีความเป็นเอกภาพ เช่น ในกรณีของภาคใต้ สมมุติว่าในเขต จ.พัทลุงคนเลือกเขาก็จะเลือกในพื้นที่ไม่มีความเป็นไปได้ที่คนในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช จะมาเลือกให้คนในพื้นที่จ.พัทลุง เป็นต้น ปัญหาที่จะเห็นได้ชัดคือ จะมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ และประชาชนจะต้องเลือกกาให้ผู้สมัครได้เพียงคนเดียว โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีประชากรในพื้นที่น้อยกว่า เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง คะแนนเขาจะสู้กับจังหวัดใหญ่ๆอย่างนครศรีธรรมราชหรือสงขลาไม่ได้เลย

“เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนและจะเป็นปัญหา เพราะประชาชนเขาจะเลือกลงคะแนนให้กับคนในพื้นที่ ที่เขาคุ้นเคยเท่านั้น คนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเล่นการเมืองเขาจะเอาฐานคะแนนเสียงมาจากไหน อย่าคิดว่าพรรคการเมืองเขาจะแก้ไขปัญหานี้กันเองได้ ผมเห็นกมธ.ยกร่างฯหลายคนออกมาบอกว่า ถ้ามีปัญหาก็อย่าลงเลือกตั้ง ผมถามว่าถ้า เกิดพรรคการเมืองใหญ่ ๆ เขาไม่เอาด้วย แล้วไม่ลงเลือกตั้งขึ้นมาจริง ๆ เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย อะไรจะเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าทำเป็นเรื่องเล่น ๆ เราฟังท่านมาหลาย เรื่องแล้วก็ยอมรับได้บ้าง แต่เรื่องนี้ผมอยากจะบอกว่า มีปัญหาแน่นอน และอาจจะไม่มีความเป็นไปได้ หาก กมธ.ยกร่าง และ คสช.จะเดินหน้าสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น จะต้องทบทวนเรื่องนี้ให้ดี”นายนิพิฏฐ์ กล่าว

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า แนวคิดนี้ทำให้เกิดปัญหาคือ ​​1.เป็นการไม่เคารพการจัดสรรบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมือง เพราะการเลือกแบบบัญชีรายชื่อเป็นการเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกตัวบุคคล ดังนั้น เมื่อพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อก็ควรเลือกจากบัญชีรายชื่อไม่ใช่เลือก เป็นรายบุคคลในบัญชีนั้นอีก 2.เกิดความยุ่งยากในการจัดทำบัญชีเลือกตั้ง ประชาชนจะเลือกหรือไม่ก็ได้ ประชาชนจะเกิดความสับสน นอกจากนั้นผู้สมัครในบัญชีจะต้องหาเสียงทำให้เกิดความแตกแยก 3.เกิดความยุ่ง ยากในการคำนวณคะแนนเสียง เพราะนอกจากจะต้องจัดสรรที่นั่งให้พรรคการเมืองตาม สัดส่วนในแต่ละภาคแล้วยังต้องมาจัดลำดับบุคคลที่จะได้รับเลือกตั้งอีก และเมื่อไม่บังคับให้เลือกบุคคลจะมีประโยชน์อะไรในการจัดลำดับ 4.เป็นการไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง

นายชูศักดิ์ กล่าอีกว่า 5.เมื่อแต่ละบัญชีมีผู้สมัครถึง 30 กว่าคน แล้วเหตุใดจึงให้เลือกผู้สมัครได้คนเดียวถ้าต้องการให้ประชาชนจัดลำดับก็ควร จัดทั้ง 30 คนแต่ก็เห็นได้ชัดว่า คงใช้เวลาอยู่ในคูหาไม่ต่ำกว่า 10 นาที ซึ่งเป็นการยุ่งยาก ​6.ในที่สุดประชาชนก็จัดลำดับตามจังหวัดหรือพื้นที่ที่ตนรู้จักมากที่สุด เมื่อมีประชาชนไม่เท่ากัน ภาคไหน จังหวัดไหนมีประชาชนมากกว่าก็ได้ลำดับต้น ๆ กลายเป็นภูมิภาคนิยม จังหวัดนิยม ​ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระบบบัญชีรายชื่อเป็นการให้ประชาชนเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครของพรรคไม่ใช่ที่ตัวบุคคล จึงควรมีบัญชีเดียวทั่วประเทศเหมือนที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญปี2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเหมาะสมและสะดวกต่อการจัดการเลือกตั้ง และการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชนการแบ่งเป็นภาคและแยกบัญชี รวมถึงการให้เลือกคนจากบัญชีอีกนั้นจึงไม่มีเหตุผลรองรับ จะเป็นการสร้างปัญหา และสร้างความสับสนแก่ประชาชนเสียมากกว่า


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์