ทนาย "มาร์ค"รับทราบข้อกล่าวหาปมสลายชุมนุมแดงปี 53 ยันไม่หนักใจ ยึด พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกขั้นตอน แย้ม "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก"เป็นพยานด้วย
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี
นายบัณฑิต สิทธิพันธุ์ ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่ม นปช. ปี 2553 ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. จากนั้นนายบัณฑิต ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ดูระเบียบไม่หนักใจ ทั้งนี้คำสั่งต่าง ๆ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นคนเซ็น และผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องทุกอย่าง เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมด ไม่มีคำสั่งด้วยวาจา ส่วนข้อกล่าวหาไม่ยอมปรับแผนปฏิบัติการ จนทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตนั้น เรื่องนี้มีการปรับแผนแน่นอน เนื่องจากขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. รายงานไว้ ซึ่งเราจะนำมาผนวกรวมในการชี้แจงข้อกล่าวหาด้วย แต่รายละเอียดขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้
เมื่อถามว่ากรณีที่นายอภิสิทธิ์ระบุว่า คนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด
คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.นั้น จะนำมาเป็นพยานด้วยหรือไม่ นายบัณฑิต กล่าวว่า จริง ๆ มีมากกว่านั้น แต่ต้องดูก่อนว่า ป.ป.ช.จะเชิญใครมา มีพยานกี่คน คงยังบอกไม่ได้ เรายังมีเวลาอีก 15 วัน ก็จะรีบทำให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้หากไม่มาด้วยตัวเอง ก็สามารถชี้แจงเป็นเอกสารได้ เชื่อว่า ป.ป.ช.คงไม่หวั่นไหว แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีอำนาจอยู่ในขณะนี้ไม่ว่ามีตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร ถ้าเกี่ยวข้องกับพยานปากใด หรือข้อเท็จจริงส่วนใด ก็ต้องมาให้ปากคำ ส่วนนายอภิสิทธิ์ จะมาชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ยังไม่ได้หารือกัน ต้องรอประชุมกันใน 15 วัน โดยวันที่ต้องมาชี้แจงข้อกล่าวหาคือวันที่ 25 มี.ค.
ต่อข้อถามว่าในแง่ความรับผิดชอบทางกฎหมายระหว่างนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จะแตกต่างกันอย่างไร
นายบัณฑิต กล่าวว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ส่วนจะคุ้มครองได้จริงหรือไม่ ก็แล้วแต่ ป.ป.ช. ว่าข้อเท็จจริงแค่นี้จะพอรับฟังได้หรือไม่ ส่วนจะมีการนำคำพิพากษาศาลในคดีก่อการร้ายมาใช้เป็นหลักฐานหรือไม่นั้น ก็ต้องดูก่อน หากพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับส่วนใด เราคงต้องเขียนพาดพิงและเสนอต่อ ป.ป.ช. เพราะเอกสารเรามีเยอะ คดีนี้แตกต่างจากคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 อย่างสิ้นเชิง ในปีดังกล่าว ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และช่วงนั้นไม่ได้เป็นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ปี 2553 มีชายชุดดำ ดังนั้นข้อเท็จจริงมันต่างกัน ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐานตามที่กล่าวหา.