แจกหมื่นห้า ฟรีเกษตรกรอายุ60ขึ้น ชงเข้าครม.อังคารหน้า

แจกหมื่นห้า ฟรีเกษตรกรอายุ60ขึ้น ชงเข้าครม.อังคารหน้า

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง และได้รับผลกระทบในพื้นที่งดทำนาปรังว่า เพื่อให้การจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค กรมชลประทานยังคงมาตรการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองรวม 26 จังหวัดจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 พร้อมกันนี้ รัฐบาลมีนโยบายจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่งดทำนาปรัง ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่างรอบแรกตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เช่น โครงการซ่อมแซมหรือปรับปรุงคูคลองโดยการจ้างแรงงานเกษตร เป็นมาตรการหลัก ที่จ้างงานเกษตรกรไปแล้วกว่า 36,000 ราย คิดเป็น 85% จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 44,388 ราย

นายชวลิตกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการเสริมด้านอาชีพ เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ทั้งด้านประมง ด้านปศุสัตว์ การฝึกอบรมภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ตระกูลถั่วและพืชปุ๋ยสด ดำเนินการในพื้นที่แล้วกว่า 50% คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะแจกจ่ายพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ได้ครบทุกพื้นที่

สำหรับระยะที่ 2 ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสร้างรายได้และการพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน 

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซาก 3,051 ตำบล ครอบคลุม 58 จังหวัด อุดหนุนเป็บงบประมาณตำบลละ 1 ล้านบาท นำไปพัฒนาโครงการพื้นฐานทางการเกษตร เช่น ขุดบ่อน้ำชุมชน เน้นใช้งบเพื่อจ้างงานร้อยละ 50 โดยต้องเป็นโครงการผ่านความเห็นชอบของแต่ละชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ตัวแทนชุมชนเสนอโครงการเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาระดับจังหวัด คาดว่าจะจัดสรรงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมนี้

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอครม.เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้ารอบสอง ในระยะสั้นลงสู่เกษตรกรรายย่อย ที่มีที่ทำกินครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่ง

มาตรการระยะสั้นคือ การเร่งแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ที่มีปัญหาจากการทำการเกษตรไม่ได้ผล หรือราคาผลผลิตตกต่ำ จนมีหนี้สินในกองทุนต่างๆของกระทรวงเกษตรฯกว่า 4,000 ล้านบาท รวมทั้ง มีมาตราการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ หลังแจกไร่ละ 1,000 บาทไปแล้ว

ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาความยากจน 4 มาตรการ 

เริ่มจากแจกเงินให้เปล่าแก่เกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ล้านครัวเรือน เพื่อนำไปใช้ครัวเรือนละ 1.5 หมื่นบาท โดยมีการตั้งกรอบงบประมาณเบื้องต้นจำนวน 15,000 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดในการตรวจสอบเกษตรกรที่จะมีคุณสมบัติได้รับเงินจำนวนดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจแต่ละครัวเรือนอีกครั้ง โดยเน้นจ่ายให้เกษตรกรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เหมือนกับเป็นสวัสดิการชาวนา

ส่วนมาตรการที่ 2,3 และ 4 เน้นช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าในระดับชุมชนที่สามารถผลิตสินค้าได้ครบวงจร ครัวเรือนละ 1.5 หมื่นบาท

 โดยจะต่อเนื่องกับมาตรการระยะยาวในการวางแผนแก้ต้นเหตุของปัญหา เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วมและการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้ แผนจัดทำโครงการลดหนี้หรือแจกเงินให้เกษตรกร ที่เป็นกลุ่มเกษตรกรยากจน เพื่อลดความเดือดร้อนช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่มีผลกระทบมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะหนักขึ้นในช่วงสองเดือนนี้ทั่วประเทศด้วย โดยจะเสนอให้ครม.รับทราบแนวทาง จากนั้นกระทรวงเกษตรฯจะนำไปจัดทำรายละเอียดรวมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องและสรุปเข้าครม. เพื่อขออนุมัติใช้กรอบวงเงินจากงบกลางในคราวต่อไป

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน

เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,174 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 59 แต่เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 17,671 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะปริมาณน้ำที่ใช้การได้ของ 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,971ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิตติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,637 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำใช้การได้ 423 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำใช้การได้ 484 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,515 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุเทพกล่าวต่อว่า ช่วงฤดูแล้งนี้ใช้น้ำไปแล้ว 2,416 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนจัดสรรน้ำฯ จากแผนการใช้น้ำกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีการทำนาปรังไปแล้วเกือบ 5 ล้านไร่

“จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ขณะนี้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ในขณะที่ยังเหลือช่วงฤดูแล้งอีกกว่า 2 เดือน ขอให้เกษตรกรงดเพิ่มพื้นที่นาปรังต่อเนื่อง เพราะเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพื่อประหยัดน้ำให้มีปริมาณพอใช้สำหรับประปา และรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำน้ำเจ้าพระยา” นายสุเทพ กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์