นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.)
เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีที่ สปช. มีมติเลือก นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แทน นางทิชา ณ นคร ที่ลาออกไป ว่า เป็นการไปดำรงตำแหน่งต่อในสัดส่วนของ สปช. และไม่มีปัญหาในการทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีการรายงานความคืบหน้าของร่างรัฐธรรมนูญให้กับทาง สปช. รับทราบทุก 2 สัปดาห์ อยู่แล้ว
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ว่า เป็นเรื่องใหม่ของการเมืองการปกครองของไทย
ซึ่งการปฎิรูปประเทศในครั้งนี้ เครื่องมือที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่เหมือนฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากมีการบัญญัติในหมวดของการปฏิรูปและการเสริมสร้างความปรองดอง และเรื่องของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ก็ได้มีการระบุไว้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นหัวใจของปัญหาของประเทศไทย คือ เรื่องของคนขาดคุณธรรม จริยธรรม และองค์กรขาดธรรมาภิบาล รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีการเพิ่มอำนาจของประชาชนและลดอำนาจของรัฐโดยมีการเมืองภาคพลเมืองเข้ามาสร้างดุลยภาพการเมืองกับนักการเมือง
นอกจากนี้ นายองกรณ์ ยังได้กล่าวถึงประเด็นของที่มานายกรัฐมนตรี ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ ว่า
เป็นเรื่องที่ดี ที่มีการแสดงมุมมองที่แตกต่าง เพราะทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะได้นำกลับไปพิจารณา เพราะในขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ ยังสามารถทบทวน ปรับแก้ได้ตลอด ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก จะถูกส่งมาที่ สปช. วันที่ 17 เม.ย. และเมื่อ สปช. พิจารณาเสร็จแล้วก็จะเปิดโอกาสให้ทุกองค์กรเสนอแก้ไขได้ และทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะมีเวลาประมาณ 60 วัน ในการทบทวนปรับแก้แล้วส่งกลับมาให้ สปช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 6 ส.ค.