"ทิชา"เปิดใจครั้งแรก เผยโดน กมธ.ชายเสียงข้างมาก รุมต้านปมสิทธิสตรี เป็นเหตุให้หมดศรัทธาการยกร่าง รธน. ฝาก สปช.ดันผู้หญิง นั่งเก้าอี้แทน
เมื่อวันที่ 3 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณห้องโถงอาคารรัฐสภา 1
นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดแถลงข่าวเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่ได้แสดงเจตจำนงในการลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า สาเหตุที่ตนต้องมาแถลงต่อสาธารณะในฐานะที่เป็นอดีต กมธ.เสียงข้างน้อย รู้สึกหมดหวัง หมดศรัทธา ที่จะสื่อสารกับ กมธ.เสียงข้างมาก ในประเด็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับเพศหญิง ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และสภาท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งกมธ.ผู้หญิงได้ประนีประนอมด้วยการปรับถ้อยคำจาก "เพศหญิง" เป็น "เพศตรงข้าม" ให้แล้ว แต่ก็ยังมี กมธ.ผู้ชาย ผู้คัดค้านก็ยังไม่ยอมรับ ซึ่งตนยืนยันว่าการที่ตนแสดงจุดยืนผลักดันเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นการเชิดชูสิทธิสตรี ไม่ได้ขัดขวางหรือลดคุณค่าเพศชาย แต่มุ่งหวังที่จะเปิดพื้นที่ให้กับเพศหญิงเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนในสังคม ไปสู่ความสมดุล เพราะเพศหญิงถูกจัดวางให้อยู่กับบ้านมานาน ดังนั้นการที่ผลักดันผู้หญิงไปสู่พื้นที่สาธารณะเพื่อทำหน้าที่ในการปรับสมดุลในสังคมร่วมกับเพศชาย ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ เพราะจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ที่ต้องอาศัยมาตรการพิเศษชั่วคราว เข้าไปช่วยเหลือ
นางทิชา กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าอาจจะมีผู้หญิงเก่งบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับระบบสัดส่วน
แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีผู้หญิงที่อยู่ในท้องถิ่น หมู่บ้าน อยู่ติดชุมชนมาตลอดชีวิต หรือยังมีผู้หญิงในเมืองใหญ่ที่มีความรู้สูง แต่ไม่ได้มาจากตระกูลนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ ดังนั้นโอกาสที่คนเหล่านี้จะเข้าสู่พื้นที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถนนที่มุ่งสู่การเมืองทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ได้ออกแบบให้กับผู้ชาย เพื่อผู้ชายมาอย่างยาวนาน ซึ่งตนยังยืนยันว่าระบบสัดส่วน หรือมาตรการพิเศษชั่วคราวมีความจำเป็น อย่ามามโนว่าผู้หญิงจะไม่คอร์รัปชั่น ผู้หญิงจะไม่ประพฤติตนเหลวไหล ไร้สาระ หลักการที่เคร่งครัดคือผู้หญิง ผู้ชายในสภาท้องถิ่น จนถึงสภาสูง จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มข้น ด้วยกติกาเดียวกัน การมองต่างมุมในครั้งนี้ ทำให้บรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นสัดส่วนเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ต้องจบลงด้วยการแขวนไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง
"เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกัน ดิฉันก็คงอยู่ต่อไม่ได้ การตัดสินใจลาออกจาก สปช. และกมธ.ยกร่างฯ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญในทัศนะของบุคคลอื่น แต่สำหรับดิฉัน เมื่อสถานการณ์บ่งชี้ว่าไม่สามารถทำในสิ่งที่ควรทำ ทั้งที่สิ่งนั้นอาจสร้างการเปลี่ยนแปลง อาจสร้างสมดุลใหม่ให้กับสังคมได้ ดิฉันก็ไม่สมควรที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะเท่ากับว่าดิฉันได้หมดความเคารพต่อตัวเองไปแล้ว"นางทิชา กล่าว และยืนยันว่าจะไม่กลับมายังสถานที่แห่งนี้อีก และอยากให้สัดส่วนของบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งจะคัดเลือกกันในวันนี้แทนตน เป็นผู้หญิง.