คําประกาศของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในที่ประชุมเสวนาเนื่องในวาระครบรอบอีก 1 ปีของสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับ 1 ที่ว่า
"การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีการปรับตัวดีขึ้น"
ถือเป็น "ข่าวดี" อย่างแน่นอน แต่จะเป็น "ข่าวดี" ถึงระดับที่ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ไม่จำเป็นต้องออก
ยังน่าสงสัย
ไม่แน่ใจว่าจำนวนเงินที่ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระเตรียมไว้ประมาณ 65,000 ล้านบาท
จะยังมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด
ไม่แน่ใจว่าจำนวนเงินที่ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระเตรียมที่จะอุดเข้ากองทุนมูลภัณฑ์กันชนเพื่อแทรกแซงราคายางพารา
จะยังมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด
เมื่อรวมกับงบประมาณอันแจกให้กับเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ไม่ว่าจะเป็นชาวสวนยาง ก่อนหน้านี้ก็น่าจะเกินหนัก 100,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว
แน่ใจหรือไม่ว่า "เอาอยู่"
ท่ามกลางข่าวดีอันโหมประโคมผ่านปาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่เพียงสร้างความสงสัยว่าดีถึงขั้นต้องยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงโดยสิ้นเชิงหรือไม่
หากสงสัยว่า "เป็นจริง" มากน้อยเพียงใด
ความจริง โดยสถานะแห่ง "รองนายกรัฐมนตรี" ซึ่งกำกับดูแลงานทางด้าน "เศรษฐกิจ" ของรัฐบาลก็มากด้วยน้ำหนักและความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
ยังมีฐานันดรแห่ง "ม.ร.ว." ปะหน้า
น่าเชื่อว่าสถานะแห่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีความน่าเชื่อถือสูงกว่า "ม.ร.ว.ป่ายปีน" ในเรื่องสั้นของ "ลาว คำหอม" อย่างแน่นอน
กระนั้น เสียงแห่งความสงสัยก็ "แว่ว" มา
เป็นความสงสัยจากคนในหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นความสงสัยจากคนในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เป็นความสงสัยจากคนในแวดวง "อสังหาริมทรัพย์"
บทสรุปอันตรงกันอย่างยิ่งก็คือ ยอมรับว่าเศรษฐกิจปี 2558 น่าจะดีกว่าเศรษฐกิจปี 2557 แต่ก็ดำเนินไปในลักษณะ 1 ซึมๆ ขณะเดียวกัน 1 ดีแต่ยังไม่ดีพอ เพราะว่าราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำเพราะว่าการลงทุนจากภาครัฐยังไม่ดำเนินไปในทางเป็นจริง
เท่ากับ "โต้กลับ" อย่าง "นิ่ม ซอฟต์"
ความไม่แน่ใจในสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนั้นสัมผัสได้จากอะไร
1 สัมผัสได้จาก "ความเป็นจริง"
ความเป็นจริงของราคาข้าว ความเป็นจริงของราคายางพารา ความเป็นจริงของการส่งออกอันมากด้วยอุปสรรค
ข้าวจะให้เข้าไปใกล้ 15,000 บาทต่อเกวียน นั้นเกินฝัน
ยางพาราที่ว่าจะให้ทะยานไปยัง 80 บาทต่อ 1 กิโลกรัมภายในเดือนกุมภาพันธ์ก็เลื่อนไปอีก 1 เดือนเป็นภายในเดือนมีนาคม
การส่งออกอาจเป็นบวกแต่ก็ไม่น่าจะถึงร้อยละ 4
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากคือท่าทีและความเห็นในการประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ต่างลดจากร้อยละ 4 ลงมาเหลือร้อยละ 3.9
เป็นบทสรุปเพียงเมื่อเหยียบบาทก้าวเข้าเดือนมกราคม ยังเหลืออีกตั้ง 11 เดือน
ทั้งๆ ที่คนพูดคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทั้งๆ ที่คนพูดอยู่ในฐานะ "หัวขบวน" การขับเคลื่อนในทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
น่าสงสัย น่าแคลงใจ น่ากังขา
สงสัยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สามารถ "พูด" อย่างเป็นตัวแทนของ "รัฐบาล" ได้เพียงใด
แคลงใจในสถานะแห่งความเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้าน "เศรษฐกิจ" กังขาในบทบาทและความหมายอันรองนายกรัฐมนตรีได้รับและความไว้วางใจ
น่าสงสัย น่าแคลงใจ น่ากังขา
(ที่มา:มติชนรายวัน 9 กุมภาพันธ์ 2558)