เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังปาฐกถาพิเศษฯ ถึงกรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ที่ถูกมองเป็นการไล่ล่าทางการเมือง ว่า ถ้าเป็นความเข้าใจผิดก็ต้องอธิบาย โดยการทำความเข้าใจ ซึ่งรัฐบาลจะไม่ไปเจาะจง เพื่อสร้างความเข้าใจให้แต่ล่ะฝ่าย แต่จะอธิบายโดยส่วนรวม ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีความตั้งใจไล่ล่าทางการเมือง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว หากจะจัดการปัญหาทางการเมืองก็คงมีการดำเนินการตั้งแต่ เมื่อครั้งเริ่มยึดอำนาจใหม่ ๆ วันนี้หากความไม่เข้าใจยังมีอยู่ก็คงต้องมีการพูดคุยอธิบาย และเชื่อว่า การถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่กระทบต่อแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน
“ผมเคยพูดแล้วว่าเรื่องนี้เหมือนกับการหนีเสือปะจระเข้ ถ้าฝ่ายที่คิดว่า มีอำนาจแต่ไม่ทำอะไรจะเจอสถานการณ์คล้าย ๆลักษณะนี้ และอาจโดนกดดันจากอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ค้างคามา เช่น ถ้าไม่มีการถอดถอนอีกฝ่ายก็จะมองว่า ทำไมไม่มีการทำอะไร แต่ถ้าถอดถอนอย่างที่ทำอยู่ก็จะเกิดความไม่พอใจจากอีกฝ่ายหนึ่ง” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ที่จะกระทบต่อความมั่นคง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ และไม่สามารถให้ความมั่นใจอะไรได้ เพราะไม่ได้ทำงานด้านความมั่นคง แต่เรามีรายงานข่าวด้านความมั่นคงอยู่แล้วถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหว ซึ่งตนไม่สามารถตอบได้ต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่พูดจะดีกว่า
เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯเรียกร้องให้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าไม่ได้มีอะไรและรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯก็ระบุว่า ทางสหรัฐฯไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้อยู่ที่ทางฝ่ายเราได้ไปพูดอะไรมากกว่า เพราะข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่า ฝ่ายเราไปพูดคุยกับสหรัฐฯ ซึ่งตนติดใจเรื่องนี้มากที่บอกว่า รัฐบาลกำลังเล่นละครอยู่ อย่างการร่างรัฐธรรมนูญเป็นต้น
ส่วนการที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะต้องดูเรื่องความเหมาะสม ผลกระทบ เพราะเรื่องดังกล่าวหากดูแลไม่ดีจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งนี้การปรองดอง คือ จุดหมายปลายทางแต่มีหลายวิธีซึ่งการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง การอภัยโทษก็เป็นวิธีหนึ่ง นิรโทษกรรมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหาไม่ได้จบที่การนิรโทษเพียงอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าต่อให้ไม่มีการนิรโทษกรรมเลยก็สามารถปรองดองได้ แต่หากถึงจุดที่ต้องมีการนิรโทษกรรมรัฐบาลก็จะทำหากเป็นเวลาที่เหมาะสม
“การนิรโทษกรรมคือต้องออกกฎหมายและทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจอีกทั้งต้องมีคำตอบที่เหมาะสม เช่น การนิรโทษกรรม 66/ 23ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและสังคมต้องการจึงออกมาโดยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ แต่หากออกมาแล้วคนต่อต้านเราก็ต้องกลับไปใหม่ นั่นแปลว่ามาผิดจังหวะ” นายวิษณุ กล่าวว่า