เชื่อปูไม่ถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต วิษณุคาดรธน.ใหม่ไร้ย้อนหลัง

เชื่อปูไม่ถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต วิษณุคาดรธน.ใหม่ไร้ย้อนหลัง

26 ม.ค. 58 เมื่อเวลา 17.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
 
กล่าวถึงผลการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของ สนช.ว่า ถือว่ามีผลตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.จากนี้ไปเป็นเรื่องของคดีอาญา ส่วนที่มีการมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต เพราะมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ห้ามผู้ที่ถูกวุฒิสภาถอดถอนเป็น ส.ส.นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าเป็นแบบนี้ และคิดว่าคงไม่เขียนในรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการตัดสิทธิ์ 5 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ จะนำข้อความ มาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่
 
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แล้วแต่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่า โดยปกติกฎหมายจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ความผิดอาญาย้อนหลังไม่ได้ เพราะขัดหลักนิติธรรม ยกเว้นเป็นคุณย้อนได้ ซึ่งทั่วโลกยอมรับ แต่ถ้าไม่ใช่คดีอาญา เป็นคดีแพ่ง ความผิดทางวินัย คดีทางการปกครองเคยมีผลย้อนหลัง แต่ทางที่ดีไม่ควรย้อนหลัง

เมื่อถามว่า ในมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57

กำหนดให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสร้างกลไกป้องกันนักการเมืองทุจริต จะมีผลย้อนถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่สำคัญว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเขียนป้องกันนักการเมืองที่ต้องคดีทุจริตกี่ปี แต่สำคัญว่า เขาจะเขียนกระทั่งแปลได้ความว่ามันจะย้อนหลังหรือไม่ แต่วันนี้เขารู้ปัญหาแล้ว เขายังจะเขียนหรือไม่ ตนไม่ควรไปพูดอะไร ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่คิดอะไรด้วยซ้ำ เพราะยังไม่ถึง แต่ถ้าพูด ณ วันนี้ ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. คือตัดสิทธิ์ 5 ปี เมื่อถามว่า เหตุใดจึงมั่นใจว่ากฎหมายย้อนหลังไม่ได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มั่นใจ แต่พูดในฐานะที่มองจากความเป็นธรรม และคิดว่าคนอื่นก็คงคิดอย่างเดียวกัน บนพื้นฐานความเป็นธรรม

เมื่อถามว่าขณะนี้ทางพรรคเพื่อไทย กำลังพูดถึงการนิรโทษกรรม
 
นายวิษณุ กล่าวว่า ที่จริงเขาก็พูดกันมาก่อนแล้ว โดยไปมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดอง ซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจอย่างนั้นก็ได้ แต่ความเข้าใจของรัฐบาลมองว่า การปรองดองอาจจะเป็นจุดหมายปลายทาง แต่วิธีที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการเข้าสู่กระบวนการก็เป็นวิธีการหนึ่ง การอภัยโทษก็เป็นการวิธีหนึ่ง การนิรโทษกรรมก็เป็นวิธีการหนึ่ง อย่างเช่น อยู่ดีๆ เลิกแล้วต่อกันหรือลืมเสียก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่คงต้องเลือกวิธีการที่มีความเหมาะสม

"เหมือนกับที่เราจะไปดอนเมือง ซึ่งคุณอาจจะไปทางวิภาวดีก็ได้ ไปทางพหลโยธินก็ได้ หรือจะลอยเรือไปทางคลองเปรมฯ ก็ถึงเหมือนกัน ดังนั้นการที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือการปรองดองทำได้หลายอย่าง" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า การปรองดองที่ยั่งยืนคือการเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งแล้วไม่เกิดปัญหาตามมา

แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกใช้วิธีการใด ที่ไม่เกิดปัญหาตามมา อย่างเช่นการสร้างเขื่อน ก็จะเกิดประโยชน์คือได้น้ำนำมาใช้ แต่เกิดปัญหาใหม่คือทำลายสิ่งแวดล้อม แปลว่าไม่ยั่งยืน อย่างก็ไรตามหากรัฐบาลมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยิ่งยืนเมื่อไหร่ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่วันนี้ยังไม่มีความมั่นใจ เพราะพอคิดเริ่มจะทำก็จะมีคนต่อต้าน แล้วเราก็จะเสียเวลาต้องไปอธิบายกับพวกที่ต่อต้าน จึงไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นจึงต้องหยุดไว้ก่อน ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำก็ได้


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์