บันทึกประวัติศาสตร์ เบื้องหลังสอยยิ่งลักษณ์
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง บันทึกประวัติศาสตร์ เบื้องหลังสอยยิ่งลักษณ์
บันทึกประวัติศาสตร์ เบื้องหลังสอย"ยิ่งลักษณ์" เหตุผล-ข้อสังเกตปมถอดถอน ฝ่ายสนช.-กลุ่มหนุนยิ่งลักษณ์
ผ่านไปแล้วสำหรับการถอดถอนครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 190 ต่อ 18 เสียง ถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง จากกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งจนทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ที่บอกว่าเป็นการถอดถอนครั้งประวัติศาสตร์ก็เพราะ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์นั้น นอกจากจะเป็นนายกฯหญิงคนแรกของเมืองไทยแล้ว ยังเป็นอดีตนายกฯที่ถูกถอดถอนคนแรกของเมืองไทยด้วย ซ้ำยังต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ สนช.มีมติ
และแม้การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน กระทั่งถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ แต่การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เคยมีที่ประสบผลมาแล้ว และเป็นการถอดถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเช่นกัน แต่เป็นชุดปี 2549
ครั้งนั้น สนช.ได้ลงมติถอดถอน นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหาวางตัวไม่เหมาะสม จากกรณีนำพามวลชนแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ย้อนกลับมาที่การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ มีเบื้องหลังและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกิดขึ้นในวันประวัติศาสตร์ที่ควรบันทึกเอาไว้
เริ่มจากองค์ประชุม พบว่าบรรดาสมาชิก สนช.ตบเท้าเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงยิ่งถึง 219 คน จากจำนวนเต็ม 220 คน แม้แต่ นายสถิตย์ สวินทร อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ที่เดินทางมาลงมติเป็นคนแรกในสภาพทุลักทุเลเนื่องจากป่วยหนัก ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยพยุงตลอดเวลา แต่เขาก็ยังมา จึงได้ลัดคิวให้ลงมติก่อนเพื่อน ก่อนกลับไปพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลทันทีหลังลงคะแนนเสร็จ
สมาชิกที่ขาดมีคนเดียว คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่แจ้งว่าลาป่วย ไม่ได้มาร่วมลงมติ
ประเด็นต่อมา คือ ผลของมติที่ออกมา แน่นอนว่าย่อมเกิดคำถามตามมาถึงที่มาที่ไปของคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 190 เสียง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ปรากฏกระแสข่าวว่า สมาชิกสายทหารมีท่าทีไม่อยากมีส่วนร่วมในกระบวนการถอดถอน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว และถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง บางรายก็เชื่อว่าจะกระทบกับแผนปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
กระทั่งปรากฏกระแสข่าวการส่งสัญญาณให้สมาชิกลงมติในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยมีการหยิบยกคำกล่าวของ "เนติบริกร" วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่า "ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ" มาเชื่อมโยงกับทำหน้าที่ของ สนช.ในการพิจารณาถอดถอนอดีตนายกฯ
ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ซึ่งถือเป็นกัปตันเรือแป๊ะ รวมทั้งผู้ใหญ่ในกองทัพ อาทิ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสมาชิก สนช. ต้องออกมายืนยันเป็นพัลวันว่า ไม่มีการล็อบบี้เพื่อให้สมาชิกลงมติไปในทางใดทางหนึ่ง
สอดคล้องกับประธาน สนช.อย่าง นายพรเพชร วิชิตชลชัย รวมทั้งบรรดาสมาชิกที่ออกมาประสานเสียงยืนยันว่า สนช.มีอิสระทางความคิด การลงมติ และไม่มีทฤษฎีสมคบคิดอย่างแน่นอน
ถ้าเชื่อว่าคำยืนยันนั้นเป็นจริง ก็ต้องไปค้นหาสาเหตุจาก "เหตุผล" ในการลงมติถอดถอน ซึ่งแยกเป็นประเด็นข้อโต้แย้งของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ดังนี้
O ประเด็นอำนาจของสนช.ในการถอดถอน ซึ่งเชื่อว่าสนช.ไม่มีอำนาจ แต่หากพิจารณามาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะพบว่าได้บัญญัติให้สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ฉะนั้น "การถอดถอน" ซึ่งเป็นอำนาจของวุฒิสภาอยู่แต่เดิม จึงย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของสนช.ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
O ประเด็นผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่อาจถอดถอนได้ กรณีนี้ สนช.มองว่า มาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนดให้ผู้ที่ถูกถอดถอนจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ฉะนั้นการถอดถอนจึงมีผล แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว
ขณะที่ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ระบุว่า "(ผู้ถูกกล่าวหา) จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย" ถือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวยังถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่
เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับความเห็นของสมาชิกที่เห็นว่า พฤติกรรมของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ใช้อำนาจการเป็นนายกรัฐมนตรี ยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งไม่มาตอบข้อซักถามของสมาชิกผ่านคณะกรรมาธิการซักถาม (กมธ.ซักถาม) ด้วยตนเอง จึงกลายเป็นน้ำหนักให้ถูกถอดถอนมากขึ้น
ประกอบกับเมื่อรับฟังคำแถลงปิดคดีของทางฝั่งผู้กล่าวหา คือ ป.ป.ช. และฝั่งผู้ถูกกล่าวหา คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ อย่างครบถ้วน ทำให้สมาชิกมีความเข้าใจมากขึ้น และเห็นว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดมีน้ำหนักนำไปสู่การถอดถอนได้ ส่งผลให้สมาชิกสายทหารซึ่งมีความกังวลก่อนหน้านี้ และอาจลงมติงดออกเสียง หรือไม่ร่วมลงมติ กลับมาเทคะแนนไปที่การลงมติถอดถอน
ดังนั้นเมื่อนำมารวมกับคะแนนของสมาชิกกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่ม 40 สว., สายวิชาการ รวมถึงนักธุรกิจจำนวนหนึ่งที่มีคะแนนเสียงยืนพื้นเห็นด้วยให้มีการถอดถอนมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้การลงมติถอดถอนครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้มีคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 190 เสียง
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทางฝ่ายสนช.อธิบาย ซึ่งแน่นอนว่าตรงข้ามกับที่ฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และผู้สนับสนุนอธิบาย โดยเฉพาะประเด็นการชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พร้อมพวก กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริตเพียงไม่กี่วันก่อนลงมติ และการลงนามในคำสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ในคดีอาญา ก่อนสนช.โหวตเพียง 1 ชั่วโมง
ขณะที่ค่ำคืนก่อนลงคะแนนก็มีงานเลี้ยงที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ใกล้ๆ กับบ้านหลายเสา ซึ่งบางคนค่อนแคะว่าเป็นงานเลี้ยงฉลองชัยชนะมากกว่าเช็คเสียง วัดกำลัง
แน่นอนว่าข้อกล่าวหาเรื่องความไม่เป็นธรรม และพฤติการณ์คล้าย "รุมกินโต๊ะอดีตนายกฯ" คงดังกระหึ่มไปอีกนาน
ที่มา :: bangkokbiznews
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!