พรเพชร ยันมติถอดถอนไม่มีเลศนัย ชี้เป็นอำนาจสนช.

พรเพชร ยันมติถอดถอนไม่มีเลศนัย ชี้เป็นอำนาจสนช.


วันที่ 23 มกราคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แถลงภายหลังจากการประชุมลงมติถอดถอน ว่า กระบวนลงมติในวันนี้สนช.ทุกคนใช้ดุลพินิจโดยอิสระเพราะเป็นเอกสิทธิ์ และไม่ได้ทำอะไรที่แฝงประโยชน์หรือมีเลศนัยใดๆทั้งสิ้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการชักจูงให้สมาชิกทำอย่างหนึ่งอย่างใด แม้แต่ตนก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องดุลพินิจในการลงมติของสมาชิก จะเห็นได้ว่า สมาชิกมีความกระตือรือร้นและตระหนักในหน้าที่ที่ต้องใช้ดุลพินิจโดยคำนึงหลักกฎหมาย นิติธรรมและความเป็นธรรมเป็นหลัก จริงอยู่ที่ผ่านมาจะเคยมีการประชุมทั้งเปิดเผยและลับ ไม่ว่าจะในการประชุมวิปสนช.และสภาฯใหญ่ แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ถามสมาชิกว่าจะลงมติอย่างไร

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ในฐานะประธานสนช.ต้องประเมินการทำหน้าที่ของสนช.ว่าเป็นไปด้วยหลักการหรือเหตุผลใด โดยจะนำกระบวนของทั้ง 3 สำนวนมาพิจารณา โดยกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา มองว่า การที่มีมติไม่ถอดถอน เพราะสำนวนข้อกล่าวหาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมีข้อถกเถียงว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ยกเลิกไปแล้ว ความผิดที่ระบุไว้ยังคงอยู่หรือไม่


อีกทั้งความผิดของนายนิคมกับนายสมศักดิ์ ป.ป.ช.ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาก่อนที่จะมีการัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ดังนั้น เมื่อตนมารับหน้าที่ประธานสนช. จึงทำเรื่องสอบถามไปยัง ป.ป.ช.ว่าจะแก้ไขหรือไม่ แต่ป.ป.ช.ยืนยันกลับมาว่าจะใช้ข้อกล่าวหาเดิม ตนจึงขอความเห็นจากสมาชิกกระทั่งมีมติรับไว้พิจารณา เมื่อกระบวนการถอดถอนของนายสมศักดิ์และนายนิคมสิ้นสุดจนมีมติดังกล่าวออกมา ก็มองได้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ใช้ดุลพินิจตามข้อกฎหมาย ที่เห็นว่าไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ


นายพรเพชร กล่าวอีกว่า ขณะที่สำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ค่อยมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย แม้จะมีข้อโต้แย้งในบางเรื่องว่า อำนาจของสนช.ต่อพิจารณาถอดถอนได้หรือไม่ แต่สนช.มีข้อสรุปแล้วตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดให้สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีอำนาจการถอดถอนตามประเพณีการปกครอง และย่อมเป็นอำนาจของสนช.ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อีกข้ออ้างหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งแล้วไม่อาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น หากไม่มีวรรคที่ระบุว่า “เมื่อถอดถอนแล้วให้เพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี” ด้วยเหตุนี้ ถือว่าหลักกฎหมายหนักแน่นไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งป.ป.ช.ยื่นข้อกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 
                

แม้ว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ก็มีการอ้างว่าผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย แต่ข้อกล่าวหาก็ยังอ้างความผิดหลักตามขัดพ.ร.บ.บริหาราชการฯ โดยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้ปัญหาตามข้อกล่าวหานี้มีน้อย ดังนั้น สนช.จึงต้องไปพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเห็นว่ากรณีที่สนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึง 190 คะแนน เข้าใจว่าสมาชิกมีความเข้าใจในพยานหลักฐานตามที่ป.ป.ช.นำมากล่าวอ้างและแสดงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ จึงเป็นเรื่องสมาชิกมีความเห็นต่างกันในการรับฟังข้อเท็จจริงจากกระบวนการในการพิจารณาของสนช.และการฟังจากสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช.”นายพรเพชร กล่าว 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์