“ขุนค้อน” แจงไม่ได้ปลอมร่างรธน.ยันทำถูกต้อง

“ขุนค้อน” แจงไม่ได้ปลอมร่างรธน.ยันทำถูกต้อง

“ขุนค้อน” แจงไม่ได้ปลอมร่างรธน.ยันทำถูกต้อง โวเป็นประธานที่อะลุ่มอล่วยที่สุด-วอนขอความเป็นธรรม

 เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 15 ม.ค. ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เริ่มกระบวนการซักถามนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการซักถาม ได้ตั้งคำถามจำนวน 6 ข้อ อาทิ เรื่องการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนร่างเดิม ที่สมาชิกเข้าชื่อเสนอ โดยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากเดิม เรื่องการกำหนดวันแปรญัตติที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม เรื่องการเสียบบัตรแทนสามารถทำได้หรือไม่และได้ทักท้วงหรือไม่ เรื่องการมอบให้นายนิคมร่วมเป็นประธานการประชุม และมีการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติจำนวนมาก เป็นการขัดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ และในฐานะที่เป็นประธานรัฐสภาเคยร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ หรือไม่ เรื่องกรณีไม่มาร่วมแถลงเปิดคดีถอดถอน แต่กลับไปร่วมบุคคลอื่นแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เหตุใดจึงไม่ยอมรับอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุล

 นายสมศักดิ์ ตอบข้อซักถามว่า ขอปฏิเสธเรื่องการปลอมแปลงเอกสารอย่างสิ้นเชิง ข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว

เป็นเรื่องปกติของงานธุรการสภา เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายตามขั้นตอน ต้องผ่านสำนักการประชุม เมื่อมีการตรวจสอบเอกสารอย่างถูกต้องจึงจะเสนอมาให้ตน ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่เสนอมา ตนยังไม่ได้บรรจุในวาระการประชุม เนื่องจากนายอุดมเดชขอนำร่างไปแก้ไข จากนั้นเมื่อแก้ไขแล้วจึงเสนอมาให้ตนเซ็น เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมต่อไป ขั้นตอนทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนตามปกติ ที่สำคัญได้เชิญ ผอ.สำนักการประชุมมาชี้แจง ว่า การแก้ไขร่างดังกล่าวถูกต้องและขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง ผอ.สำนักการประชุมก็ยืนยันความถูกต้องทุกอย่าง หากตนไม่บรรจุวาระภายใน 15 วัน ก็จะขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

 นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 1-3 ก็ไม่มีสมาชิกทักท้วงว่าเป็นร่างปลอม
 
ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าร่างที่แก้ไขใหม่ไม่มีการขอลายเซ็นรับรองจากอดีตสมาชิกรัฐสภานั้น แนวทางปฏิบัติเมื่อแก้ไขร่างเสร็จแล้ว จะมีการแจ้งสมาชิกผ่านคณะกรรมการประสานงานแต่ละพรรค บางคนอาจไม่รู้เพราะเป็นเรื่องการประสานงาน หากเห็นว่า เป็นร่างปลอมทำไมไม่ประท้วง ปล่อยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แสดงว่าไม่ผิด เทียบเคียงกับร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เมื่อมีการแก้ไขก็ไม่ต้องให้ประชาชนกลับมาเซ็นรับรองใหม่ พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอกฎหมายในลักษณะนี้หลายฉบับ ถ้าเรื่องนี้ผิด จะผิดเพราะอะไร ผิดเพราะร่างไม่ถูกใจหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีร่างปลอม มีแต่ของจริง

 อดีตประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการแปรญัตติ ข้อบังคับการประชุมกำหนดว่า
 
เมื่อมีการรับหลักการกฎหมายฉบับใด การแปรญัตติจะเริ่มนับจากวันถัดจากวันที่รับหลักการ ซึ่งร่างฉบับนี้มีการรับหลักการเวลา 02.00 น.ของวันที่ 4 เม.ย.56 แม้วันนั้นองค์ประชุมไม่ครบในการกำหนดวันแปรญัตติ ตนก็สั่งปิดประชุมและสั่งเปิดประชุมในช่วงเช้า ทุกคนก็ลงมติให้แปรญัตติภายใน 15 วัน ยืนยันว่าการทำหน้าที่เรื่องการกำหนดวันแปรญัตติถูกต้องแล้ว ส่วนการเสียบบัตรแทนกันจะมีจริงหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับตน ตนมาทราบเรื่องนี้จากข่าว และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ถ้ามีความผิดจริงถือเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล

 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การตัดสิทธิผู้อภิปรายขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์

ซึ่งประธานไม่มีสิทธิตัดสิทธิผู้ที่สงวนคำแปรญัตติในการอภิปราย เว้นแต่ที่ประชุมลงมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งข้อบังคับกำหนดไว้ชัดเจน ข้อกล่าวหาที่ว่าตนรวบรัด ตัดตอน จำกัดสิทธิ ไม่ให้ความสำคัญเสียงข้างน้อยนั้น ตั้งแต่มีรัฐสภามาไม่เคยมีประธานคนใดอลุ้มอล่วย ให้สิทธิสมาชิกอภิปรายมากเท่าตน ทุกครั้งที่มีการขอให้ปิดอภิปราย ตนจะขอให้ถอนญัตติ ถ้าเจ้าของญัตติยังยืนคำเดิม ก็จะพักการประชุมให้วิปไปคุยกัน แต่หากกลับมาแล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ยังยืนยันเหมือนเดิม ตนก็ต้องขอมติจากสมาชิก ส่วนการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ 57 คน เนื่องจากคนเหล่านี้แปรญัตติขัดหลักการและขัดข้อบังคับการประชุม แต่ตนเปิดโอกาสให้มีอภิปรายหารือเรื่องนี้เกือบ 10 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีประธานคนใดอดทนเท่านี้อีกแล้ว

 “ที่บอกว่าผมไม่ยอมรับการตรวจสอบ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมเป็นนักประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งหลายสมัย เล่นการเมืองมา 32 ปี มากกว่าครึ่งชีวิต ผมเคารพทุกองค์กรในระบอบประชาธิปไตย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. โดยเฉพาะสภาฯ แต่ที่ไม่มาแถลงเปิดคดีถอดถอน เพราะมีการทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรครอบคลุมทุกประเด็นแล้ว แต่ที่มาวันนี้เพราะมีการเข้าใจผิดในบางประเด็น ผมจึงต้องมาชี้แจงด้วยตัวเอง ไม่มาไม่ได้ เพราะสมาชิกอาจสับสน โดยเฉพาะเรื่องการกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสาร ยืนยันว่าไม่มีอะไรผิด ทั้งนี้ การพิจารณาถอดถอนตามมาตรา 270 ต้องมีความผิดเสียก่อน และต้องมีเจตนาด้วย แต่ผมยืนยันว่าไม่มีอะไรผิด แม้แต่ผิดพลาดก็ยังไม่มี และไม่ได้วินิจฉัยผิดพลาด จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 270 ที่ต้องมาวันนี้มาตามหาความยุติธรรม ถ้ารัฐสภาแห่งนี้ให้ความเป็นธรรมผมไม่ได้ ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน แต่ผมมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม” นายสมศักดิ์ กล่าว

 หลังจากนั้น นายพรเพชรขอให้ที่ประชุมลงมติเพื่อยกเว้นข้อบังคับข้อ 156 วรรคสอง

 เพื่อขยายเวลาให้มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาเป็นวันที่ 21 ม.ค. เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมต้องมีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาภายใน 7 วัน นับจากวันที่ยื่นว่า จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาหรือไม่ ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 14 ม.ค. ทั้งนี้ ป.ป.ช.และนายนิคม ได้ยื่นความจำนงแล้วว่า จะแถลงปิดคดีด้วยวาจา แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้ยื่นแสดงความจำนง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์