ม.ค.58 นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แถลงตอบโต้กรณีที่มีผู้ส่งออกข้าวออกมาเปิดเผยว่า ไทยสามารถทวงแชมป์ส่งออกข้าวได้แล้วในปี 2557 โดยคาดว่าส่งออกได้ 10.5 ล้านตัน ในลักษณะของการบิดเบือนว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้เร่งระบายข้าวและเร่งรัดการส่งออก ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นจริง
โดย นายยรรยง ยืนยันว่า การส่งออกข้าวในปี 2557 เกือบทั้งหมด เป็นการส่งออกข้าวที่ได้รับจำนำไว้ได้ระบายให้ภาคเอกชนส่งออก และเป็นการส่งออกตามสัญญาเดิมทั้งที่เป็นสัญญาของเอกชนและสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ได้ทำไว้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งสิ้น
นายยรรยง ชี้แจงว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลชุดปัจจุบันระบายข้าวได้น้อยมาก ไม่กี่แสนตัน
ข้าวที่ระบายล็อตสุดท้ายในช่วงปลายปี 2557 ประมาณ 4 แสนตัน ก็เป็นปลายข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ไม่ใช่ข้าวเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐแต่อย่างใด ที่จะขายให้รัฐบาลจีน 2 ล้านตันนั้น ก็เป็นเพียงการทำความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอย่างแท้จริง โดยจะต้องเจรจารายละเอียดเรื่องราคาและปริมาณกันอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น การที่ไทยสามารถส่งออกข้าวได้เกินกว่า 10 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันแต่อย่างใด
นายยรรยง กล่าวเพิ่มเติมกรณีที่มีการโจมตีว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว ว่า
สาเหตุที่ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงในปี 2555 และปี 2556 นั้น เป็นเพราะว่าอินเดีย ซึ่งเคยส่งออกข้าวได้เพียงปีละประมาณ 4 ล้านตัน ได้ระบายสต็อคข้าวที่อินเดียได้เก็บสำรองไว้ในช่วงปี 2553 - 2554 ไว้จำนวนมาก ออกทุ่มตลาดในราคาที่ต่ำมาก ทำให้อินเดียสามารถส่งออกได้เพิ่มเป็นปีละกว่า 10 ล้านตัน ทำให้ไทยส่งออกได้เพียงปีละ 7 ล้านตัน เพราะไม่ต้องการลดราคาข้าวให้ต่ำเกินไป แต่ไทยก็ไม่ได้ส่งออกข้าวในราคาสูงตามราคาที่รับจำนำ แต่ส่งออกโดยใช้ราคาข้าวในตลาดข้าวโลกเป็นราคาอ้างอิง
"การที่ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงไม่ใช่เพราะโครงการรับจำนำข้าว แต่เป็นเพราะอินเดียต้องทุ่มตลาดข้าว เนื่องจากจำเป็นต้องระบายข้าวที่สำรองไว้มากเกินไป" นายยรรยง กล่าว
นายยรรยง กล่าวในตอนท้ายว่า ตนขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ และวิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม ไม่ควรบิดเบือนและมุ่งโจมตีทางการเมือง เนื่องจากการสร้างความเข้าใจผิดและบิดเบือน จะมีผลกระทบต่อชาวนาและเกษตรกรอื่นๆ มากกว่านักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายช่วยเหลือเกษตรในอนาคต