เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว.ในวันที่ 8 ม.ค. และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน โดยเป็นการแถลงเปิดคดีให้ผู้กล่าวหา คือ ป.ป.ช.แถลงข้อเท็จจริง และผู้ถูกกล่าวหาซึ่งจะมาชี้แจงด้วยตัวเอง หรือมอบหมายตัวแทนก็ได้ มาแก้ข้อกล่าวหา โดยคาดว่าแต่ละสำนวนจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะพิจารณาคำถามที่สมาชิก สนช.ยังติดใจซักถามผ่านคณะกรรมาธิการฯ
เมื่อถามว่าประเด็นการเดินหน้าถอดถอน จะสร้างความขัดแย้ง ไม่สามารถทำให้เกิดความปรองดองหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่าสนช.ต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อเรื่องดังกล่าวได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภา ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม หากจะให้ สนช.หยุดกระบวนการถอดถอนก็ต้องให้คำแนะนำด้วยว่าจะดำเนินได้อย่างไรเพราะขณะนี้ไม่มีช่องทางใด สุดท้ายเมื่อมติออกมาอย่างไรคิดว่าสมาชิก สนช.ก็จะมีอิสระในทางความคิด โดยจะฟังความเห็นของทั้งสองฝ่ายในการเปิดแถลงคดี และปิดคดี แล้วนำมาชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดถูกหรือผิด แต่ขณะนี้ต้องไว้วางใจสมาชิก สนช.ว่าจะทำหน้าที่ด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม จึงไม่มีอะไรกระทบความปรองดอง
นายสุรชัย กล่าวว่า สำหรับการลงมติคดีของนายนิคม และนายสมศักดิ์ คาดว่าเป็นประมาณปลายเดือน ม.ค. ส่วนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะลงมติเวลาไล่เลี่ยกันคือปลายเดือน ม.ค.ถึงต้นเดือน ก.พ. แต่อาจจะมีตัวผันแปร คือการตั้งคำถามของ สนช.ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหน หากมากก็ไม่สามารถซักถามให้เสร็จภายในวันเดียว เมื่อถามว่าหากถอดถอนไม่สำเร็จ สนช.จะกลายเป็นจำเลยของสังคมหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสองมุม ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของสังคม เพราะบางมุมมองก็มองว่า สนช.จะต้องทำหน้าที่ต่อไป ก็จะกระทบต่อความปรองดอง แต่ถ้าไม่เดินหน้าถอดถอนก็จะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอีกส่วนหนึ่งหรือไม่ ดังนั้นขอความเห็นใจด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรก็จะส่งผลต่อแรงเสียดทานของสังคม แต่จะทำอะไรไปก็ต้องตอบสังคมให้ได้
"ยอมรับว่าสมาชิก สนช.ต้องแบกรับแรงกดดันจากกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผลการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็คงไม่ถูกใจทุกฝ่าย แต่ต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง และตอบคำถามสังคมได้"นายสุรชัย กล่าว เมื่อถามว่าบางฝ่ายมองว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะไม่น่าจะถอดถอน นายสุรชัย กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเรื่องนี้ไปต่อสู้กันในสภา ถ้าพูดข้างนอกก็จะทำให้สมาชิก สนช.รับรู้นอกสำนวน ดังนั้นผู้ที่คิดว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว ก็ให้นำไปต่อสู้อย่างเป็นทางการ เชื่อว่าสมาชิกก็จะรับฟังหากเป็นสิ่งที่มีเหตุผล และคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าพูดตามสื่อ ส่วนการถอดถอน 38 ส.ว.คาดว่าจะบรรจุระเบียบวาระการประชุมในสัปดาห์หน้า