รุมเฉ่ง กกต.จัดคูหาใหม่ผิด กม.- จับ 9 พิรุธเลือกตั้งไม่โปร่งใส
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 เมษายน 2549 17:44 น.
นักกฎหมาย - องค์กรประชาชน รุมเฉ่ง กกต.ออกระเบียบเปลี่ยนแปลงการจัดคูหาใหม่ และติดรูปผู้สมัครไว้ที่คูหา ชี้ เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายชัดเจนฐานทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ ด้าน อ.นิติฯ ม.เกษมบัณฑิต ประท้วง กกต.รับใช้ผู้มีอำนาจใช้ไม้จิ้มฟันเจาะเลือดกากบาทแทน ศูนย์จับตาการเลือกตั้ง 49 เปิด 9 ประเด็นร้องเรียนความไม่โปร่งใสแล้ว
วันนี้ (2 เม.ย.) บรรดานักกฎหมายและประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ออกระเบียบใหม่เปลี่ยนแปลงการจัดคูหาเลือกตั้งใหม่ ว่า เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการติดชื่อผู้สมัครและหมายเลขเอาไว้ด้านบนคูหาเลือกตั้ง ถือว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ การจัดคูหาเลือกตั้งโดยหันหน้าออกมาด้านนอกนั้น กกต.ได้มีมติในการจัดหน่วยเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวตั้งแต่เมื่อการประชุมครั้งที่ 75/2548 วันที่ 13 มิ.ย.2548 โดย กกต.ได้อ้างเหตุผลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการมาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว.เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้มีสิทธิไม่สามารถจดจำหมายเลขของผู้ที่ตนจะไปลงคะแนนให้ จึงได้ให้ผู้มีสิทธิหันหน้าเข้าหากำแพงที่ได้ติดข้อมูลของผู้สมัครเอาไว้
นอกจากนี้ ทาง กกต.ยังได้อ้างเหตุผลเรื่องที่จะมีผู้ไม่สุจริตต่อการเลือกตั้ง นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปถ่ายรูปเป็นหลักฐานให้กับหัวคะแนน ซึ่งการจัดวางคูหาในลักษณะนี้จะทำให้กรรมการประจำหน่วยสามารถเห็นได้ว่าผู้ที่ไปลงคะแนนมีการกระทำนอกเหนือจากการกากบาทหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการประชุม กกต.ได้มีการท้วงติงว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.104 วรรค 4 ที่ระบุว่า การเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ แต่ก็มีการยืนยันว่าแม้คูหาจะหันหน้าออก คนที่อยู่ภายนอกก็ไม่สามารถเห็นได้ว่าลงคะแนนให้กับผู้ใด อย่างไรก็ตาม หลังจากการทดลองจัดคูหาแบบนี้ ได้มีผู้ที่ร้องเรียนอย่างเป็นทางการไปยัง กกต.หลายครั้ง ว่ามีผู้ที่คอยแอบดูการลงคะแนนของผู้มีสิทธิ และสามารถสังเกตได้ชัดเจนว่าลงคะแนนให้กับหมายเลขใด รวมถึงบางครั้งกรรมการประจำหน่วยก็เป็นผู้ที่สังเกตเห็นเอง
นายเดโช สวนานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กทม.(ส.ส.ร.) กล่าวว่าว่า ส่วนตัวเห็นว่าการจัดคูหาเลือกตั้งดังกล่าวผิดปกติจากเดิมอย่างมาก ไม่มิดชิดเพียงพอซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีการจัดเป็นห้องให้กับผู้ใช้สิทธิอย่างมิดชิด ซึ่งสำหรับประเทศไทยควรดำเนินการให้เป็นไปในลักษณะดังกล่าวได้แล้ว การลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ของไทยยังถือว่า เป็นการลงทุนที่น้อยเกินไป และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่มาใช้สิทธิมากพอสมควร แต่ตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของ กกต.ที่จะสามารถตัดสินใจดำเนินการอย่างไรก็ได้ ส่วนใครติดใจและเห็นว่าการใช้สิทธิไม่เป็นความลับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 104 ที่ระบุว่าการลงคะแนนเลือกตั้งต้องออกเสียงโดยตรงและลับ ก็สามารถนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อทำการไต่สวนได้
ส่วนที่มีการนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องร้องจะนำไปสู่การยกเลิกการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่นั้น นายเดโช กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก หากมีการนำสืบพบว่า กกต.ได้มีการออกมาเป็นมติอย่างถูกต้อง และการเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวได้ดำเนินการออกเป็นระเบียบออกมารองรับ ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ได้ โดยเฉพาะหาก กกต.มีการพิจารณาและคำนึงแล้วว่าต้องการให้การใช้สิทธิของประชาชน เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่นาจะมีปัญหาทางกฎหมาย แต่หากพบว่า การออกมติดังกล่าวมีเจตนาที่ให้การใช้สิทธิของประชาชนไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสามารถเอาผิดได้
เมื่อถามว่า กกต.อ้างว่าจัดคูหาลักษณะดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำโทรศัพท์เข้าไปถ่ายรูปขณะลงคะแนน นายเดโช กล่าวว่า ถ้าเป็นข้ออ้างดังกล่าวจริง ถือว่า กกต.ทำผิดกฎหมายล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเท่ากับว่า กกต.แสดงเจตนาสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่มาใช้สิทธิว่าจะทำอะไรในคูหาบ้าง ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิของผู้ลงคะแนนไม่เป็นความลับ ส่วนการที่บอกว่าเป็นการป้องกันปัญหาถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ กกต.สามารถหาทางแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้ เรื่องนี้ กกต.ทั้ง 4 คนจะต้องหาเหตุผลมาอธิบายกับสังคมถึงการเปลี่ยนรูปแบบจัดคูหาครั้งนี้ให้ได้
ด้าน นายบรรเจิด สิงคเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ภาคกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กกต.จะต้องชี้ให้เห็นว่าการจัดคูหาแบบเดิมนั้น มีข้อเสียอย่างไร เพราะการกระทำในลักษณะนี้ของ กกต.อาจจะมีการหมิ่นเหม่ของการเลือกตั้งโดยรัฐ แม้ กกต.จะอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องการนำโทรศัพท์มือถือ แต่ กกต.จะต้องมีสถิติว่าที่ผ่านมามีการกระทำอย่างนั้นเท่าไร กกต.จะต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างการป้องกันกับหลักการลงคะแนนโดยลับ
ในหลักการเลือกตั้งจะต้องมีเสรีภาพและเป็นความลับ แต่เรากลับเลือกการละเมิดหลักการใหญ่แล้วการป้องกันเรื่องเล็กเหตุใด ซึ่งทำไมเราจึงไม่หามาตรการการป้องกันอื่นแทน เรื่องนี้กกต.ทั้ง 4 คนคุณกำลังคำนึงถึงเรื่องอะไรกันแน่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ผู้นี้ ระบุ
ส่วนหากประชาชนรู้สึกว่าการลงคะแนนไม่เป็นเรื่องลับ จะสามารถนำไปฟ้องร้องได้หรือไม่ นายบรรเจิด กล่าวว่า ต้องดูว่ามติครั้งนี้ของ กกต.กระทบต่อรัฐธรรมนูญ หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกับกรณีตรายางก็ได้ แต่ถ้าหากมองกันถึงการยกเลิกผลการเลือกตั้ง ตนคิดว่ามันไม่ส่งผลถึงขนาดนั้น มันกระทบต่อหลักการก็จริงแต่ไม่ถึงขนาดให้ผลการเลือกตั้งเสียไปทั้งหมด
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวในเรื่องเดียวกัน ว่า การกระทำเรื่องนี้ของ กกต.จะทำให้เกิดปัญหาอย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นการกระทบกับเจตนารมณ์ และหลักการของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการลงคะแนนโดยลับ
กฎเกณฑ์ของ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะต้องมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการเลือกตั้งก็จะต้องเสียไป และยกเลิกผลการเลือกตั้งในที่สุด นอกจากนี้ กกต.ทั้ง 4 คนมีสิทธิถูกถอดถอน เนื่องจากกระทำการไม่สุจริต และกระทำการที่ขัดรัฐธรรมนูญ
นายคมสัน กล่าวต่อว่า การส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่อาจจะยุ่งยาก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะยื่นเรื่องของให้นำเรื่องดังกล่าวส่งไปยังศาลยุติธรรม และทำเรื่องร้องขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
ด้าน นายสงวน ลิ่วมโนมนต์ ประธาน กกต.กทม.กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนใน กทม.ว่า ในคูหาเลือกตั้งบริเวณผนังเหนือคูหากากบาทลงคะแนนมีรูปและหมายเลขผู้สมัครติดอยู่ ว่า ลักษณะดังกล่าวทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะในบริเวณคูหาจะมีรูปผู้สมัครคนใดไม่ได้ ถ้าจะมีก็จะติดอยู่บริเวณบอร์ดที่ กกต.จัดทำไว้ และต้องวางไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ถ้ามีรูปและหมายเลขผู้สมัครติดอยู่ในบริเวณนั้นจริงก็เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องแจ้งให้กรรมการประจำหน่วยลงบันทึกและเอารูปดังกล่าวออกทันที ขอให้สื่อมวลชนช่วยถ่ายรูปและส่งให้ตนเพื่อเป็นหลักฐานด้วย
ส่วนถ้ามีการร้องเรียนเข้ามาจะทำให้ถึงขั้นเลือกตั้งใหม่หรือไม่นั้น นายสงวน กล่าวว่า ต้องพิจารณาที่ข้อมูลหลักฐาน หากมีจริงก็ต้องดำเนินการนำส่งไปยัง กกต.กลางเพื่อให้วินิจฉัยว่า จะต้องเลือกตั้งใหม่หรือไม่ หากประชาชนที่พบเห็นแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ให้ไปบอกกับกรรมการประจำหน่วยนั้นๆ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง บางครั้งการดำเนินการก็อาจมีบกพร่องบ้าง
ส่วนเรื่องปากกานั้น กกต.กทม.ได้รับแจ้งร้องเรียนเข้ามามาก ว่า บางหน่วยเลือกตั้งไม่มีปากกาอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งยอมรับว่า กกต.กทม.ประสานไปยังหน่วยเลือกตั้งทั่ว กทม.ที่มี 6,198 หน่วย และบางหน่วยอาจมีไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถที่จะดำเนินการหาปากกาได้ทัน ก็ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำปากกามาจากบ้านก็สามารถนำมาใช้กากบาทได้ หรือหยิบยืมกันในหน่วยก็ได้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 89 โรงเรียนอนุบาลจิตตนัฐดา ซ.ลาดพร้าว 87 นายยศศักดิ์ โกศยากานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และเป็นกรรมการองค์กรเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย สภาทนายความ ซึ่งเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถนนราชดำเนินนอก ในการร่วมกันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางไปใช้สิทธิ โดยใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มปลายนิ้วชี้ขวาของตัวเองจนเลือดออก แล้วนำเลือดดังกล่าวมากากบาทในช่องลงคะแนนของบัตรเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า บัตรดังกล่าวเข้าข่ายเป็นบัตรเสียหรือไม่
นายยศศักดิ์ เปิดเผยว่า ตนคิดวิธีการดังกล่าวเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 เม.ย.โดยครั้งแรกคิดว่าจะใช้คัตเตอร์กรีดนิ้วให้เลือดออกแล้วใช้ตรายางประทับของ กกต.ปั๊มเลือดก่อนประทับลงในบัตรลงคะแนน แต่ภรรยาของตนเตือนว่าอาจจะทำให้เกิดความโกลาหล และดูจะดุเดือดเกินไป จึงใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มนิ้วของตัวเองเพื่อใช้กากบาทสีแดงลงในบัตรเลือกตั้ง ทั้งนี้ สิ่งที่ตนทำมีความหมาย เพื่อต้องการที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ กกต.ที่เปรียบเสมือนยักษ์ที่มีกระบอง แต่ไม่ยอมใช้กระบองนั้นๆ จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์เที่ยงธรรม แต่กลับใช้อำนาจนั้นไปรองรับความต้องการของผู้มีอำนาจ จึงเปรียบเสมือนไม้จิ้มฟันที่คอยแคะฟันให้กับผู้มีอำนาจ ตนจึงเลือกใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มนิ้วให้มีเลือดออกและกากบาทแทน ซึ่งกว่าจะใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มนิ้วจนกว่าเลือดจะออกตนต้องจิ้มหลายครั้งมากทีเดียว
นายยศศักดิ์ เชื่อมั่นว่า สิ่งที่ทำไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะกฎหมายระบุไว้ว่าการทำเครื่องหมายในบัตรลงคะแนนสามารถทำได้โดยใช้ตรายางที่ กกต.จัดเตรียมไว้ หรือกากบาทลงในช่องว่าง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่ปากกาสีน้ำเงินที่ กกต.เตรียมไว้หมึกหมด จนประชาชนใช้ปากกาแดงหรือดินสอกากบาทแทน ซึ่งกรรมการนับคะแนนก็ระบุว่าไม่ถือเป็นบัตรเสียแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากกรรมการนับคะแนนระบุว่าบัตรที่กากบาทเลือดหรือบัตรที่ใช้ปากกาแดงกากบาทเป็นบัตรเสีย จะร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการนับคะแนนใหม่อีกครั้ง
นายยศศักดิ์ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ได้ศึกษาข้อกฎหมายทั้งหมดแล้วว่าสิ่งที่ตนทำไม่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะหากจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาก็มีอยู่เพียง 2 กรณี คือ 1.การจงใจทำบัตรเสีย ซึ่งก็ไม่ได้จงใจ เพราะกากบาทอยู่ในช่องทำเครื่องหมาย 2.ทำให้เกิดความวุ่นวาย มีผลกระทบต่อการทำการเลือกตั้ง ซึ่งตนก็ดำเนินการอย่างสงบ โดยนำเพียงไม้จิ้มฟันอันเดียวเข้าในคูหา และจนกระทั่งตนทำเครื่องหมายและนำบัตรไปหย่อนลงหีบบัตรก็ไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง เพราะในการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.นี้จะไม่สามารถมี ส.ส.ได้ครบ 500 คน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่ต้องการใช้วิธีอารยะขัดขืนใช้กากบาทเลือดในการลงคะแนน โดยอาจจะใช้ปากกาแดงโดยไม่ต้องใช้เลือดอย่างตนก็ได้
ด้าน นายชัยณรงค์ เทียนมงคล ผอ.กต.กทม.กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานเบื้องต้นแล้ว และส่วนตัวคิดว่าคงไม่น่าจะผิดอะไร เพราะไม่ได้ทำลายบัตร แต่จะเป็นบัตรเสียหรือไม่นั้น ตนคิดว่า ไม่น่าผิด เพราะเป็นการทำเครื่องหมายกากบาท แต่ต้องไปดูที่ กม.เลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะกำหนดว่า ต้องใช้ปากกากากบาท และตรายางกากบาทที่ทาง กกต.จัดไว้ให้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการนับคะแนนนั้น เจ้าหน้าที่นับคะแนนจะเป็นผู้ขานว่าเป็นบัตรเสียหรือไม่ และต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ผอ.กกต.เขตนั้นๆ ว่า จะวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสียหรือบัตรดี
ขณะที่เมื่อเวลา 13.45 น. พล.ต.ต.นันทวุธ นพคุณ รักษาการรองเลขาธิการ กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน แถลงถึงกรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งตั้งแต่ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 4 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนใน กทม.และภาคกลาง 3 เรื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 เรื่อง ส่วนการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ กกต.จะต้องนำไปพิจารณาหาหลักฐานเพิ่มเติมมีทั้งหมด 9 เรื่อง แบ่งเป็น กทม.และปริมณฑล 5 เรื่อง ภาคกลาง 2 เรื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ภาคเหนือ 1 ซึ่ง กกต.จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งเรื่องร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสต่อไป
พล.ต.ต.นันทวุธ กล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้งของนายไชยยันต์ ชัยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า ทราบว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประเวศ ได้ควบคุมตัวไว้ดำเนินคดี และแจ้งข้อหาทำลายบัตรเลือกตั้ง ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แต่ในส่วนของการสอบสวนคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะ กกต.คงไม่อาจจะไปก้าวล่วงในอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ จะมีการอะลุ้มอล่วยเหมือนกับหญิงชราที่ฉีกบัตรเลือตกั้งในครั้งที่แล้วหรือไม่ คงไม่สามารถตอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันศูนย์จับตาการเลือกตั้ง 49 ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างองค์กรภาคประชาชน สภาทนายความ ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้สรุปข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมในการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.ว่า มีประเด็นสำคัญ 9 ประเด็น คือ
1.คูหาเลือกตั้งเปิดโล่งไม่มิดชิด ทำให้บุคคลภายนอกเห็นง่าย ซึ่งขัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 104 วรรค 3 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยลับ
2.เจ้าหน้าที่ห้ามประชาชนนำปากกาเข้าคูหาเลือกตั้ง และมีการบังคับให้ประทับตรายางซ้ำลงรอยปากกา จึงอาจขัดกับคำสั่งของศาลปกครองที่อนุญาตให้ใช้ปากกาได้
3.มีการติดป้ายโฆษณาหาเสียงในบริเวณคูหาเลือกตั้ง เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งมาตรา 48
4.เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งยึดบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มาใช้สิทธิ และระบุว่า จะส่งคืนเมื่อเลือกตั้งเสร็จ ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินขอบเขตอำนาจตามมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง
5.ที่เขตพระนคร และ อ.ท่าพนม จ.นครพนม ปรากฏว่า มีผู้มาสวมสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 58 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง
6.เมื่อได้รับบัตรเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าบัตรเลือกตั้งใบถัดไปถูกฉีกเหลือเพียงต้นขั้ว เหตุเกิดที่ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
7.ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ลืมแจกบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พอการเลือกตั้งผ่านไป 1 ชั่วโมง จึงนึกออก
8.มีการข่มขู่ว่าถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกเพิกถอนสิทธิในการรักษาพยาบาล 30 บาท และมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้ประชาชนกาเบอร์ 2 รวมถึงหีบบัตรเลือกตั้งเป็นกล่องกระดาษเหมือนกล่องของขวัญปีใหม่ และบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ระบบเป็นสีเดียวกัน และมีการฉีกบัตร
9.กรณีทั้งหมดมีการรายงานเข้ามายังศูนย์ซึ่งเมื่อศูนย์แนะนำให้ไปแจ้งความแต่ผู้แจ้งไม่กล้าไปเพราะกลัวได้รับการกดดัน