เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ต่างประเทศ พร้อมด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือและหลักฐาน ให้ป.ป.ช.ตรวจสอบการเป็นกรรมการของนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.กรณีลาออกจากกรรมการบริษัทองค์กรเภสัชกรรม-เมอร์ริเออชีววัตถุจำกัด ล่าช้า เกินกว่า 15 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542(พ.ร.บ.ป.ป.ช.)
โดยภายหลังการประชุม สำนักงานป.ป.ช.ได้ออกเอกสารชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวระบุว่า พิจารณาในข้อกฎหมายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ไม่ได้มีบทบัญญัติใดให้คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบว่ากรรมการ ป.ป.ช.คนใดขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 16 ได้บัญญัติถึงกระบวนการตรวจสอบว่า หากกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายไว้ ให้วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง สอดคล้องกับที่มาตรา 13 (5)ระบุว่า กรรมการ ป.ป.ช. พ้นตำแหน่งเมื่อกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 11 และ (6) ระบุว่าวุฒิสภามีมติให้กรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 16 ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าคณะกรรมการป.ป.ช. ไม่มีอำนาจพิจารณาในประเด็นนี้
และพิจารณาในข้อเท็จจริงเห็นว่าการกล่าวอ้างที่ปรากฏขึ้นมานี้ เป็นเอกสารเรื่องเดียวกับที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ใช้แถลงต่อวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดีพ้นจากตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.จากกรณีดังกล่าว ซึ่งในครั้งนั้นที่ประชุมวุฒิสภา ได้ออกเสียงลงมติไม่ให้นายภักดีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าวุฒิสภาผู้มีอำนาจลงมติถอดถอนกรณีกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายได้พิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนนี้จนได้ข้อยุติไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณาเรื่องนี้อีก