จาตุรนต์ จวกกระบวนการยกร่างรธน.ลดความเป็นปชต. หมกปัญหาเดิม

จาตุรนต์ จวกกระบวนการยกร่างรธน.ลดความเป็นปชต. หมกปัญหาเดิม

"จาตุรนต์" จวกกระบวนการยกร่างรธน.ลดความเป็นปชต. หมกปัญหาเดิม-เพิ่มปัญหาใหม่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงข้อเสนอที่จะมีการพูดคุยกันการประชุมสปช.วันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ ว่า ที่ผ่านมาทางผู้ที่มีหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คือทางกรรมาธิการ (กมธ.) ทางสปช. หรือผู้ที่มีอำนาจอยู่ก็มีการพูดในลักษณะโยนหินถามทางหรือเปิดประเด็นให้ดึงดูดความสนใจ แต่ไม่เอาจริง หรือเริ่มแย้งประเด็นที่อาจจะต้องการเอาจริงผสมกันอยู่ ก็ทำให้การวิจารณ์อะไรก็จะยาก หลายๆคนที่ติดตามก็อาจจะรู้สึกคล้ายๆกันคือไม่อยากวิจารณ์ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเสนอให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่า พวกที่เสนอไม่ได้ต้องการจริง แต่เมื่อเปิดประเด็นขึ้นมาก็ทำให้เกิดการวิพากษ์ วิจารณ์


เมื่อถามว่า หากมีการเอาจริงขึ้นมาจะทำให้เกิดเป็นปัญหาหรือไม่

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้เสนอไม่ได้ต้องการเอาจริงอยู่แล้ว แต่ต้องการให้มีการวิจารณ์ ซึ่งในการวิจารณ์นั้นก็จะเกิดการวิจารณ์แบบสะเปะสะปะ เกิดความดึงดูดความสนใจ เกิดการดึงเวลาไปในประเด็นเหล่านี้ เต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือเรื่องการเสนอให้นายกฯไม่ต้องมาจากส.ส. ไม่สังกัดพรรคการเมือง และให้มาจากการเลือกตั้งจาก 2 สภา และการเสนอให้ 2 สภานั้น ประกอบด้วยวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง หรือแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่าการเลือกตั้งก็จะไม่มีผลอะไร ประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ


อีกส่วนหนึ่งคือ ความพยายามที่จะลดบทบาทของพรรคการเมือง

ลดความสำคัญของพรรคการเมืองซึ่งจะทำให้การที่ประชาชนจะเลือกนโยบายในการบริหารประเทศจากการเลือกตั้ง และจากระบบพรรคการเมือง เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ส่วนเรื่องที่ผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายไม่ค่อยพูดกันก็คือการแก้ปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ก็คือการที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีที่มาที่เชื่อมโยงกับฝ่ายตุลาการได้หักล้างหรือมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติและหักล้างมติของประชาชนได้หลายครั้งหลายหน ซึ่งในส่วนนี้มีการพูดถึงกันอยู่บ้างว่าอาจจะต้องลดอำนาจ หรือปรับที่มาขององค์กรอิสระ แต่ความเห็นในทำนองนี้ก็เป็นความเห็นของฝ่ายที่ดูจะเป็นฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจในการร่าง  ดังนั้นแนวโน้มในขณะนี้จึงน่าเป็นห่วง กลัวจะออกมาในทางที่ยังเก็บรักษาปัญหาเดิมๆเอาไว้ และยังเพิ่มปัญหาเข้ามา คือการเปลี่ยนที่มาของนายกฯ ลดบทบาทของพรรคการเมือง นักการเมือง ซึ่งเป็นการปิดช่องทางที่ประชาชนจะกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ โดยรวมคือเป็นแนวโน้มที่ทำให้ลดความเป็นประชาธิปไตยลงไปอีก ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว


นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า กระบวนการเตรียมการที่ผ่านมาในกระบวนการยกร่างฯ
 
มีปัญหาที่การไม่เปิดฟังความคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นต่าง องค์กรต่างๆรวมถึงพรรคการเมืองไม่ได้รับอนุญาตให้หารือกัน และผู้ที่มีความเห็นแตกต่างก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความเห็นที่แตกต่างได้เหมือนอย่างที่มักจะมีการพูดกันว่าแสดงความเห็นได้แต่ห้ามแตกต่างหรือห้ามวิจารณ์คสช.ดังนั้น อันตรายที่สังคมไทยต้องเผชิญอีกก็คือการที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งขึ้นมา แล้วประชาชนจำนวนมากซึ่งผ่านประสบการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนสามารถเลือกพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรคการเมืองได้ ประชาชนเหล่านี้อาจจะนิ่งสงบเพื่อรอการยกร่างฯ โดยคาดหวังว่าเมื่อมีการยกร่างฯก็จะสามารเลือกคน เลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบมาเป็นรัฐบาลได้ แต่กลับพบว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนั้นก็จะเป็นวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่อีก


เมื่อถามว่า ในการประชุมกันวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ ควรมีการเปิดโอกาสให้คนมีความเห็นแตกต่างในส่วนของสปช.เองถกเถียงกันอย่างกว้างขวางหรือไม่

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การประชุมแม้จะมีผู้เห็นต่าง หรือมีผู้มองต่าง แต่แนวโน้มก็จะถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจจริงๆ คำถามในลักษณะโยนหินถามทางถ้าผู้มีอำนาจไม่เอาจริงสิ่งเหล่านั้นก็จะตกไป ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ากระบวนการในการเตรียมการ และกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะองค์กรที่มีความสนใจ หรือพรรคการเมือง ควรมีโอกาสได้ประชุมหารือกันเพื่อแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่และมีอิสระเสรี แต่การที่พรรคการเมืองส่งตัวแทนไปได้เฉพาะแสดงความเห็นในนามส่วนตัวก็อาจจะทำให้รัฐธรรมนูญขาดสาระสำคัญไปมากและหากปล่อยให้ทำกันไปอย่างนี้อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ที่ต้องการเอาอำนาจไว้กับองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ กับผู้ที่แต่งตั้งส.ว. หรือส.ส. กับฝ่ายหนึ่งคือประชาชนที่ไปออกเสียงเลือกตั้งแล้วพบว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์