คำต่อคำ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายการคืนความสุชให้คนในชาติ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง คำต่อคำ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายการคืนความสุชให้คนในชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.15 น.ของ คืนวันที่ 12 ธันวาคม 2014 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า
''สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกคน เดือนธันวาคมนี้ ประชาชนชาวไทยทุกคน ต่างร่วมใจทำความดีถวายในหลวงฯ รวมทั้งพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและร่วมถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างพร้อมเพรียงกันครับ เป็นที่น่ายินดี
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาผมก็ได้มีโอกาสชมการแสดงละครเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” ณ บริเวณลานกลางน้ำอเนกประสงค์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ (เมื่อ พ.ศ.2539) อันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แฝงไปด้วยปรัชญาแห่ง “คุณธรรม ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน”
ต้องขอแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต, ผู้ประพันธ์บทเพลงประกอบการแสดงนะครับ ไพเราะมาก, นักแสดงและทีมงานกว่า 1,000 ชีวิต และวงออเคสตร้า เครื่องดนตรีกว่า 60 ชิ้นที่สร้างสรรค์ผลงานบทพระราชนิพนธ์สู่สายตาประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศนะครับ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เป็นการคืนความสุข พร้อมเพิ่มพูนปัญญาให้กับประชาชนอย่างแท้จริงครับ
นอกจากความเพียรพยายามของพระมหาชนกในการว่ายน้ำกลางทะเลตลอด 7 วัน 7 คืน โดยไม่ย่อท้อ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง แต่ต้องมีสติรู้ตัว มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เมื่อเห็นว่าจะเกิดพายุ ก็มีการเตรียมสะสมเสบียงอาหาร รับประทานให้อิ่ม และการชุบร่างกายด้วยน้ำมันนะครับให้ชุ่ม เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สอนมานะครับสอนให้รู้จักคิดรู้จักเตรียมตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และประทับใจในปรัชญาที่แฝงอยู่ในบทพระราชนิพนธ์นี้ ก็คือ “การสร้างความเจริญงอกงามทางสติปัญญา” นะครับ
ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฉากการเพาะปลูกมะม่วงไว้กินเอง วิธีการถึง 9 ประการด้วยกัน ได้แก่ การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์, การถนอมรากไม้เพื่อรักษาต้นพ่อพันธุ์, การปักชำ, การเสียบกิ่ง,การต่อยอด, การทาบกิ่ง, การตอนกิ่ง, การรมควันต้นที่ไม่เคยให้ผล และการเพาะเนื้อเยื่อ แล้วเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์ไปขยายพันธุ์ ซึ่งการเพาะปลูกได้เองนั้น ทำให้ไม่ต้องแก่งแย่งกันนะครับ จะเห็นได้ว่าถ้าแย่งกันมะม่วงก็ตายนะครับแล้วทุกคนก็ไม่ได้กินอีกต่อไป ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราจะทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่ใช่การหาแต่ประโยชน์ใส่ตนและขัดขวางความสุขของผู้อื่น ต้องมีการเผื่อแผ่แบ่งปันนะครับ ที่สำคัญคือ การสร้าง “ปูทะเลมหาวิชาลัย” นับเป็นแหล่งวิชาการเรียนรู้ ซึ่งสอดแทรกอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ ที่ให้ข้อคิดว่า การศึกษาที่ขาดความเข้าใจนั้น จะไม่เกิดประโยชน์ และหากคนเรามีความรู้ความเข้าใจ แต่ไม่มีคุณธรรม ไม่อาจแยกดีเลวได้ อย่างที่เราบอกไว้แล้วว่าคนเราต้องมีคุณธรรม ก็เปรียบเหมือนคนที่ไร้ปัญญา คิดไม่เป็นครับ
ปัจจุบันประเทศไทยของเรากำลังอยู่ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการหยุดทบทวนตัวเอง สำหรับการปฏิรูปประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผมก็ขอความร่วมมือพี่น้องชาวไทย ทุกภาคส่วน ร่วมกันใช้ความอดทนและเพียรพยายาม ฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ สามัคคีร่วมใจทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อลูกหลานในอนาคต โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันในช่องทางที่เหมาะสม ละทิ้งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง สำหรับรัฐบาลเองก็จะสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการสร้างการเรียนรู้ในทุกระดับ ในขณะที่ คสช.ก็จะรักษาไว้ซึ่งบรรยากาศความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและการปรองดอง เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าประเทศไทยของเรา เป็นไปด้วยดีครับ
ในสัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่ นครปูซาน โดยได้มีโอกาส พบปะกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ผู้นำอาเซียน และภาคเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ รวมถึงบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ซึ่งการไปเยือนในครั้งนี้ ผมได้มีการกล่าวเพื่อส่งเสริมผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงในภูมิภาคตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
การปราบปรามทุจริต คอร์รัปชั่น และการฉ้อราษฎร์บังหลวง วันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทยเรา ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลกที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร มีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งในประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2536 (21 ปีที่แล้ว) และไทยได้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย ในปี พ.ศ.2543 (14 ปีที่แล้ว) เผยผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ของปี พ.ศ.2557 ระบุว่าประเทศไทยของเรา ได้คะแนนดีขึ้น มาเป็นลำดับที่ 85 (ร่วม 9 ประเทศ) จากทั้งหมด 175 ประเทศ, ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 17อันดับ (เดิมลำดับที่ 102), เป็นอันดับที่ 12 จาก28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 7) และมาเลเซีย (อันดับ 50)
แม้ว่าอันดับของประเทศไทยจะดีขึ้นในสายตาองค์กรระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยยังต้องมีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันศุกร์ที่ 12กันยายน 2557 เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วว่าการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ เนื่องจากการทุจริตเป็น “ต้นตอ” ของปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และเกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สะท้อนวิกฤตการณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม
ซึ่งทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจังนะครับ ทั้งรัฐบาล เอกชน ประชาชน ข้าราชการ องค์กรต่างๆ นะครับ ช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ ทั้งผู้ให้ ผู้รับ มีความผิดทั้งคู่ ผมในฐานะ “ผู้นำฝ่ายบริหาร - หัวหน้ารัฐบาล” ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและจริงใจ ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมาภิบาล และจะไม่เพิกเฉยต่อการกระทำความผิดกฎหมาย และจะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกเรื่อง ก็เป็นเรื่องของการพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนต่างๆ ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนนะครับทุกภาคส่วน ในเรื่องของการฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาผลประโยชน์ของรัฐมาเป็นส่วนตัวหรือเอื้อประโยชน์ซึ่ง ข้าราชการทุกระดับชั้น และจากบุคคลรอบข้างใกล้ชิดก็ต้องระมัดระวังด้วยนะครับ อย่างปล่อยปละละเลยให้คนเหล่านั้นไปเรียกร้องผลประโยชน์ ในส่วนของรัฐบาล ผมเอง และคณะรัฐบาลนั้นก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง ผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ ก็ขอให้ช่วยกันดูแลด้วย
ทั้งนี้ เรามีความตั้งใจในการป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ซึ่งผมในฐานะหัวหน้า คสช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการการกำกับดูแลทั้งในเรื่องการ “ป้องปราม” และการ “ปราบปราม” การทุจริตคอร์รัปชั่นของภาครัฐทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน จะไม่มีเจ้าภาพหลักที่ดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการนะครับ จะได้ให้รวดเร็วขึ้นให้ได้รับการยอมรับ จากทุกพวกทุกฝ่ายในเรื่องของการดูแลเรื่องคอร์รัปชั่นนะครับ ให้จริงจังขึ้น มีการประสานและดำเนินการต่างๆ ให้รวดเร็ว
ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายนะครับด้วยพยานหลักฐานอะไรต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น อาจจะดูล่าช้าไปเพราะบางอย่างนั้นยากในการที่จะหาพยานหาวัตถุพยาน เพราะกระบวนการทุจริตเหล่านี้ ก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาในส่วนของกระบวนการตรวจสอบ ให้ทันต่อสถานการณ์นะครับ ดังนั้นคณะกรรม การต่อต้านการทุจริตแห่งชาตินี้ ก็อย่าเกรงว่าจะไปซ้ำซ้อนกับใคร จะเป็นกลไกหลักในการในการดำเนินการป้องกัน ก็จะเน้นในเชิงการป้องกัน และขจัดทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้ นอกจากจะมีกรรมการจาก คสช.แล้ว จะมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยครับ เมื่อได้รับข้อมูลต่างๆครบถ้วนแล้วหากมีหลักฐานชัดเจน เป็นการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำในการป้องปรามและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง อีกทั้ง จะช่วยเสริมประสานให้การทำงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นครับ
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งการให้นำมีระบบการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ โดยนำระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency:CoST) มาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในการเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่อย่างนั้นก็กล่าวกันไปกันมา มีข้อเท็จ จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ปัญหาของเราก็คือว่า การดำเนินคดีต่างๆ นั้นต้องว่ากันไปตามหลักฐานจริงๆ นะครับตามกฎหมายบางครั้งความเข้าใจก็คนละอย่าง บางทีก็ทำให้การบริหารราชการหรือการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในส่วนของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นโครงการนำร่องที่จะใช้ระบบ CoST เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการ ก่อนจะขยายไปสู่โครงการของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ การนำระบบCoSTมาใช้นี้ จะช่วยลดช่องทางหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูและ และการตรวจสอบของภาคประชาชน ตั้งแต่การออก TOR การประกวดราคา การก่อสร้าง จนถึงการตรวจรับงาน ก็ได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบในทุกมิติครับ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการนำ “สัญญาคุณธรรม” หรือIntegrity Pact มาใช้ โดยให้หน่วยงานรัฐผู้จัดซื้อจัดจ้างและเอกชนทุกคนที่เข้ามาเสนอราคาต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และยอมรับกระบวนการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน โดยยอมให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพหรือภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคณะตรวจสอบอิสระ ซึ่งโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก.และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)จะเป็นโครงการ นำร่องการปฏิบัติตามสัญญาคุณธรรม เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ปัญหาและความเสี่ยงในทางปฏิบัติ ก่อนที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นร่างกฎหมาย หรือมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการของโครงการต่างๆ ต่อไป
ขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งมีดำเนินการการป้องกันและการปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นใน ทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญ ก็จะเร่งดำเนินการก่อน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ปราศจากการทุจริตครับ อาทิ (1)การนำระบบพิทักษ์คุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ส่งเสริมคนดีมีความสามารถให้มีโอกาสทำงาน (2) การออกกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างการกระทำผิด เช่น กฎหมายอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐ (3) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ศูนย์ดำรงธรรม, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์, ศูนย์บริการแบบ One Stop Service ต่างๆ อย่างทั่วถึง วันนี้ก็มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมด้วยเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนะครับ ดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในกรณีที่มีคดีความต่างๆ อันนี้เป็นโครงการของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวานก็ได้มีการเปิดไปเรียบร้อยแล้ว
(4) การปรับปรุงและเสริมสร้างมาตรการ - เครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาและเด็ดขาด ตามหลักนิติธรรม โดยต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจหรือปัจจัยภายนอก คงต้องดูแลด้วยนะครับ ดูแลเจ้าหน้าที่ด้วย ที่เกี่ยวข้อง อาจจะถูกกดดันจากหลายๆ ทางด้วยกัน ในเรื่องของความปลอดภัยของตัวเอง ของครอบครัวผมให้แนวทางไปแล้วต้องดูแลเขาด้วยจะได้สามารถที่จะตัดสินใจในเรื่องของการใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลนะครับ (5) ในเรื่องของการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นต่างๆ เช่น โครงการ “องค์กรใสสะอาดจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยจัดกิจกรรมให้องค์กรภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตื่นตัว ตระหนัก และปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีความโปร่งใส ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 267 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่องโครงการฯ
และที่สำคัญคือ การส่งเสริมความเข้มแข็งของสำนักงาน ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่สำคัญ ให้สามารถดำเนินงานตามภารกิจได้อย่างเต็มขีดความสามารถ ปัญหาคือคดีมีเยอะ เจ้าหน้าที่ก็มีอัตรากำลังน้อย ได้อนุมัติอัตรากำลังพลเพิ่มเติมมากกว่า 700 อัตรา เพื่อให้ ป.ป.ช.สามารถสะสางคดีที่มีค้างอยู่เดิมก่อนที่ คสช.จะเข้ามาดำเนินการเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 2,000 คดี ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นนะครับ
ทั้งนี้ ผมก็ขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น เหน็ดเหนื่อยนะครับ แล้วก็เครียด โดยขอยกตัวอย่างโครงการโรงเรียนสีขาว หลักสูตร “โตไปไม่โกง” ที่ได้ดำเนินการภายใต้หลักความดี 5 ประการที่ช่วยสร้างชาติและต่อต้านการทุจริต คือ (1) ความซื่อสัตย์สุจริต คือ การยึดมั่นในความสัตย์จริงและสิ่งที่ถูกต้องดีงาม รู้จักแยกแยะถูกผิด ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง (2) การมีจิตสาธารณะ คือ การมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตระหนักรู้ และคำนึงถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองในการกระทำใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกคนต้องดูแลกันทั้งหมด
(3) ความเป็นธรรมทางสังคม คือ การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างมีเหตุผล โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (4) กระทำอย่างรับผิดชอบ คือ การมีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองและปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการกระทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไขและ (5) เป็นอยู่อย่างพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรงไม่ละโมบโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ และไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น นับว่าเป็นการน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเน้นความพอดีพอสมพอควรแก่ฐานะความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันมาเป็นแนวคิด แนวปฏิบัติครับ
หลักสูตรนี้เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนลูกหลาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ในการต่อสู้กับกระแสวัตถุนิยม ทุนนิยมด้วยปัญญาครับ อย่างเช่นพระมหาชนก ที่ไปดูกันมา จะมีคำเหล่านี้อยู่ด้วย ต้องต่อสู้ หรือว่าต้อง มีความเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาในการเอาชนะทุกอย่างที่เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ปัญญาแล้ว ก็จะป้องกันปราบปรามทุจริต เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญต่อชาติบ้านเมืองเรา
เราก็อยู่ในหัวข้อในการปฏิรูปของ สปช.ทุกด้านเลย ทั้ง 11 ด้าน จะต้องเอาหัวข้อการปฏิรูปในทุกกิจกรรมใส่เข้าไปด้วย
สำหรับรัฐบาลเองก็ได้มีความพยายามเต็มที่ในการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ การขับเคลื่อนเวลานี้ก็ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้นนะครับ เป็นหลักการ ในการประชุมสัปดาห์นี้ ก็ได้มีรายงานจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐหรือ คตร. และ กระทรวงคมนาคมว่า รัฐบาลมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการก่อสร้างทางแยก
และถนนของกระทรวงคมนาคมในหลายโครงการนั้น มีการประมูลใหม่ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคากลางกว่า 200 ล้านบาท หรือ ประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 6% ก็อยากให้มากขึ้นกว่านี้อีก ที่ผ่านมาก็หลายโครงการ ที่ คสช.และรัฐบาลนี้ทำมา โครงการก็ 10% 20% 30% มาตามลำดับ คลายโครงการด้วยกันที่ คสช.ไปตรวจสอบมา เราก็ให้ความสำคัญในเรืองนี้อยู่แล้ว ก็ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ทุกคน แล้วก็ทำยังไงจะลดราคาแบบนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ ในทุกโครงการต่อไปนะครับ
เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10ธันวาคมที่ผ่านมา ผมก็ขอร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนคน ไทย ทุกท่านในการเฉลิมฉลองการมีรัฐธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินมากว่า 80 ปี นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย นับถึงปัจจุบันเราได้มีรัฐธรรมนูญ (และธรรมนูญการปกครอง) มาเกือบ 20 ฉบับ เราอาจจะต้องมาดูความพร้อมไม่พร้อม ในด้านความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองนี้อย่างถ่องแท้นะครับ การศึกษาของเราจะต้องยกระดับการศึกษาของเราให้ได้ ทำอย่างไรให้การเมืองของเรา นักการเมือง ประชาชน เรียนรู้ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเป็นคนใช้สิทธิ์ ใช้เสียงในการเลือกตั้ง และทำอย่างไรให้การบริหารราชการของรัฐบาลที่จะเข้ามานั้น มีธรรมาภิบาล เรื่องเหล่านี้ทุกคนต้องเรียนรู้นะครับ อย่าถือว่าเป็นหน้าที่ของใคร ของใครเลย ประชาชนต้องรู้ ถ้ารู้แล้วเราก็จะเลือกคนได้ถูกต้อง ก็มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ประเทศของเราเหมือนกับอยู่บนเรือ ผ่านคลื่นลมการทุจริต มาโดยตลอด การหาผลประโยชน์ใส่ตัวของผู้มีอำนาจมีผลประโยชน์ตลอดมา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ทันสมัย ขจัดปัญหาในอดีต และมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยของเรา
ผมก็ยังไม่มีข้อยุตินะครับว่าจะเป็นแบบไหน อย่างไร ก็เป็นเรื่องของการปฏิรูป เรื่องของการ คณะกรรมาธิการยกร่างนะครับ รัฐธรรมนูญ ก็เสนอเรื่องขึ้นมาแล้วกัน เราก็จะไปพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ในตอนช่วงท้ายนะครับ วันนี้ก็แสดงความคิดเห็นกันไปได้ ผมไม่ได้จำกัดอะไรทั้งสิ้น แล้วจะมาถามข้อสรุปของผม ยังสรุปไม่ได้ในเวลานี้นะครับ
สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เราไม่อาจจะละเลย คือ (1) ประเทศประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่จัดให้มี “การเลือกตั้ง” เท่านั้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเสนอตัวเข้ารับใช้ส่วนรวมโดยการสมัครรับเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้พลเมืองใช้สิทธิในการที่จะเลือกบุคคลที่ตนต้องการให้เป็นผู้ปกครอง หรือเป็นผู้ใช้สิทธิเป็นปากเสียงแทนตนในสภาเท่านั้น หากแต่การใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิด้วยว่า สามารถได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้อย่างเสรีเต็มที่ และมีโอกาสเลือกสรรตัวบุคคลที่ต้องการจริงๆ ปราศจากแรงจูงใจที่ทุจริต เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง วันนี้การซื้อสิทธิขายเสียง อาจจะมีมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่พื้นที่ไป นักการเมืองก็มีฐานเสียงของตนเอง ทั้งสิ้น มีประชาชน เหมือนกับว่าเป็นคะแนนเสียงของตัวเองไปไหนก็ไปด้วยตลอด ผมว่าก็อันตรายเหมือนกันนะ ต้องดูในเรื่องของหลักการในเรื่องของนโยบายให้ชัดเจน
และ (2) ในระบอบประชาธิปไตย มิได้หมายความเพียง “การยึดหลักเสียงข้างมาก” อย่างเดียว แล้วก็พยายามทำอย่างไรให้มีเสียงมากขึ้น จนกระทั่งหลงลืม บางครั้งก็หลงลืมเสียงข้างน้อยเพราะงั้นจำเป็นต้องมีหลักประกันให้เสียงข้างน้อยด้วยนะครับ ให้เขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และต้องได้รับการเคารพจากเสียงส่วนใหญ่ด้วย เสียงข้างมากจะต้องไม่ละเมิด หรือก้าวก่ายสิทธิของเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยก็ไม่ต้องไปเกะกะระรานกับเสียงข้างมาก เพราะก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะงั้นวันนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันของ ครม.,คสช., สนช., สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่นี้ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผมบอกแล้วว่าต้องคิดถึงประชาชนก่อน แล้วก็ย้อนขึ้นมาว่าจะเข้าสู้ขบวนการเข้าสู่อำนาจอย่างไร แล้วไปหากระบวนการตรวจสอบ ความโปร่งใส กันว่ากันมา ถ้าไปเริ่มต้นจากข้างบนลงไปก่อน ไปถึงข้างล่าง มันก็ไปไม่ถึงข้างล่าง เริ่มจากข้างล่างอย่างเดียวก็ไปไม่ถึงข้างบน เพราะงั้นถ้าเริ่มจากข้างล่าง ประชาชนเป็นศูนย์กลางก่อน ข้างบนก็เป็นฝ่ายบริหาร ตรงกลางก็หาวิธีดำเนินการมาให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพก็แล้วกันถึงจะเกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และยั่งยืนนะครับ
อย่างไรก็ตาม กฎหมาย ที่ว่า หรือรัฐธรรมนูญที่ว่า เขียนมาตั้งเกือบ 20 ฉบับแล้วเขียนดีอย่างไรก็ตาม ถ้าขาดจิตสำนึกที่ดี ขาดคุณสมบัติของนักการเมืองที่ดี ขาดการเป็นประชาชนที่มีการเรียนรู้แล้วนี่ ยังไงก็ตาม มันก็ไปไม่ได้ครับ เพราะงั้น แต่ละคน แต่ละพวก แต่ละฝ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่งไว้แล้วว่า ทุกคนทำหน้าที่ด้วยความสุจริตใจ ในหน้าที่ของตน ของตนให้ดีที่สุด บ้านเมืองก็เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความสุขอย่างยั่งยืน ทรงรับสั่งไว้แล้ว เพราะงั้น “หน้าที่พลเมือง” นี่สำคัญแล้ว หน้าที่นักการเมือง หน้าที่พลเมือง หน้าทีข้าราชการ หน้าที่ประชาชน คนละอย่างกัน ต่างคนต่างมีบทบาทของตัวเอง ต้องวางตัวให้เหมาะสมนะครับ ไม่งั้นประเทศไทยเราก็เหมือนเดิม ไม่หลุดพ้นกับดักประชาธิปไตย หรือคำว่ามีเสรีภาพ มีสิทธิ เป็นของประชาชน อะไรทำนองนี้ มันไร้ขอบเขต กว้างขวางไร้ขีดจำกัดไม่ได้ ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นห่วงนะครับคือราคาพืชผลการเกษตรนะครับ ก็กราบเรียนว่า พวกเราไม่เคยนิ่งนอนใจนะครับ รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเอง ก็ให้นโยบาย ให้แนวทางไป อย่างต่อเนื่องนะครับ ก็ติดตามทุกวันนะไม่ใช่ไม่สนใจ แต่ปัญหาของเราคือเราต้องดูแลคนหลายกลุ่มหลายพวก เดือดร้อนมาก เดือดร้อนปานกลาง เดือดร้อนน้อยก็ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น วันนี้ก็พยายามที่จะขับเคลื่อนงบประมาณต่างๆ นั้นให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็ไม่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ก็ต้องขอความร่วมมือจากพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรภาคต่างๆ วันนี้ก็ทราบดีนะ การที่จะเรียกร้อง หรือเดินขบวน หรืออะไรต่างๆ ผมว่าบางทีมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ในการแก้ปัญหาในเวลานี้นะ วันนี้อยากจะกราบเรียนว่า เศรษฐกิจของโลกก็ยังไม่ดีขึ้นมากนักนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมโลกอื่นๆ ประเทศที่มีความสามารถสูงนะครับ วันนี้ก็ GDP ก็ลดลงหลายๆ ประเทศด้วยกัน ก็มีผลกระทบมาถึงในประเทศด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องราคาน้ำมัน ก็ผูกติดไปกับหลายๆอย่าง ราคาพืชผลทางการเกษตร น้ำมันไปเกี่ยวข้องกับยางด้วย
ซึ่งวันนี้เราก็พยายามจะขับเคลื่อนทุกอย่างนะ มาตรการเรื่องยางนั้น 11 เรื่องนะ และอีก 3มาตรการ เรื่องการใช้จ่ายเงิน ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่สามารถออกได้พร้อมกัน กำลังเร่งไปแล้วนะครับ ผมก็ได้สั่งการลงไปแล้วทางรัฐมนตรีกระทรงเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ลงไปดูแลนะครับ วันนี้ก็มีความคืบหน้ามาตามลำดับนะครับ ต้องมองหลายส่วนด้วยกัน ทั้งการค้าขายในประเทศ อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือพวกพ่อค้าต่างๆ ภาคเอกชนต่างๆ ต้องร่วมมือช่วยเราหน่อยนะครับ อย่าเพิ่งไปหาประโยชน์มากนัก มีกำไรจนมากเกินไป ต้องคำนึงถึงว่าพี่น้องประชาชนเดือดร้อนหรือเปล่าอาจจะกำไรน้อยลงหน่อย ก็น่าจะยอมกันซักหน่อย ช่วยรัฐบาลบ้าง เพราะถ้าหากเราใช้งบประมาณมากเกินไปก็จะมีปัญหา แล้ววันหน้า เราก็จะไม่มีงบประมาณในการที่จะดูแลภาคอื่นๆ ด้วย อาจจะมีความเดือดร้อนการใช้งบกลางเรื่องภัยพิบัติ น้ำแล้ง น้ำท่วม มีปัญหาอีกเยอะแยะที่จะต้องใช้งบประมาณเพื่อดูประชาชนทุกคนครับ เพราะประชาชนทุกคนนั้นมีส่วนร่วม ในงบประมาณ มีส่วนร่วมในปัญหาของชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น
ถ้าทุกคนยอมรับในหลักการตัวนี้นะครับ เราก็มีกำลังใจ และจะหาวิธีการมาแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว ไม่ใช่ว่าเรานิ่งนอนใจ ก็ร้อนอกร้อนใจทุกวัน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น เรืองอื่นๆ นั้น เรื่องการตรวจสอบการทุจริต การโปร่งใสต่างๆ ทุกอย่างก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ นะครับ คดีต่างๆ ก็มีความก้าวหน้าไปตามลำดับก็ติดตามแล้วกันอย่าเพิ่ง ไปวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายกระบวนกายุติธรรมเขาทำงานลำบาก แล้วในส่วนของการที่จะเดินหน้าประเทศไทย
วันนี้มีการประชุม ผมก็ไปประชุมเกาหลี เดือนนี้ก็จะมีการประชุม GMS นะครับ ภูมิภาคแม่น้ำโขง ก็มีหลายประเทศจะมาประชุมในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ แล้วก็ยังจะมีการประชุมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ผมว่าวันนี้เรามองเศรษฐกิจประเทศไทยต้องมองภาพใหญ่ด้วยนะครับ เราจะทำยังไงให้เศรษฐกิจระดับล่างดีขึ้น ก็ต้องขอความร่วมมือช่วยกัน เพราะเราเป็นภาคเอกชนดำเนินการมาโดยตลอกนะครับ วันนี้รัฐบาลเมื่อลงมาแล้วก็เจอปัญหามากมาย ต้องแก้ปัญหาในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของกฎหมาย ในเรื่องกติกา พันธะสัญญา ติดไปหมด เพราะงั้นวันนี้ก็ต้องร่วมมือกันนะ ประชาชนก็ร่วมมือกับรัฐ เจ้าหน้าที่คนไหนถ้าไม่ขยันขันแข็ง ไม่ทำงานให้เกิดประโยชน์ ไม่ดูแลพี่น้องก็บอกมา เราก็จะเร่งรัดไปทุกเรื่อง
วันนี้ขอขอบคุณอีกครับ เดือนนี้เป็นเดือนแห่งมิ่งมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคน ทั้งภาครัฐ ทั้งประชาชน เอกชน ภาคธุรกิจ ก็คงจะต้องช่วยกันร่วมกัน ถวายพระพรชัยมงคล ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทยท้งประเทศตลอดไปนะครับ