พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ได้ร่วมประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 และเป็นฐานการลงทุนอันดับ 3 ของเกาหลี โดยเชื่อว่า อาเซียนและเกาหลี สามารถทําได้มากกว่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของประชาคมอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2015 และ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2020
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แต่ละประเทศต้องร่วมกันใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงและบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในภูมิภาค
โดยไทยจะสนับสนุนการลงทุนของเกาหลีในภูมิภาคในลักษณะบวกหนึ่ง ส่วนการพัฒนาความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีนโยบายพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่มีศักยภาพ ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออํานวยต่อการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่การเจรจาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี มีความคืบหน้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และหากสามารถดําเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยปูทางไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย รวมทั้งนําไปสู่การทําให้คาบสมุทรเกาหลี เกิดสันติภาพ ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติ อย่างเคร่งครัด และปราศจากการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ
พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ช่วงที่ 2
ในหัวข้อ “Discussion on Non-Traditional Security Issues” โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลี เกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติโดย นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงว่า อาเซียน และเกาหลีใต้ ควรยกระดับความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการขยายตัวของความเชื่อมโยงในภูมิภาค เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด รวมถึงโรคติดต่อร้ายแรงและโรคอุบัติใหม่ การเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ไทยให้ความสําคัญต่อการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมทั้งการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผลักดันใหัมีกฎหมายรองรับ ไทยและอาเซียน ต้องการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเกาหลี เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเอกชน อาเซียน-เกาหลีใต้ สามารถเป็นผู้นําร่องเพื่อผลักดันไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง