โภคินแนะแก้ รธน.ควรยึดปี 40

โภคินแนะแก้ รธน.ควรยึดปี 40

"โภคิน" เข้าแจง กมธ.ยกร่าง รธน. แนะยึดหลักการรัฐธรรมนูญปี 40 ให้ปชช.มีส่วนร่วมแก้ปัญหาประเทศ จี้"องค์กรอิสระ"โชว์ทรัพย์สินต่อสาธารณะ ให้ศาลเป็นผู้ตรวจสอบการทำงาน

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า  มาในนามส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปได้มีการศึกษามาก่อนจนตกผลึก ส่วนหนึ่งนำมาจากข้อศึกษาและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในบางเรื่อง สำหรับรายละเอียดในการนำเสนอจะระบุถึงการปฏิรูปสามช่วงใหญ่ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งมีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยให้นายกรัฐมนตรีมาจากส.ส. ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา อายุผู้เลือกตั้ง 18 ปี ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดได้ตกผลึกมาอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 40 มองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง แต่ทำยังไงให้การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งขึ้น จึงนำกลไกของรัฐธรรมนูญจากหลายประเทศมาศึกษา ทำให้ระบบตรวจสอบเข้มแข็ง มีองค์กรอิสระ มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากคณะตุลาการเดิม และยังให้โอกาสประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายและถอดถอนได้ เน้นสิทธิประชาชนมากขึ้น ผู้ด้อยโอกาส เด็ก และสตรี ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ใช้ไปสักพักก็มีปัญหา

             



“การนิรโทษกรรม ผู้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถทำได้ แต่ว่าแนวคิดนี้ไม่เคยมีการตกผลึก และหลักการดังกล่าวก็ไม่เคยเขียนต่อ และผู้ล้มล้างการปกครอง ก็มาเขียนนิรโทษกรรมตัวเองไม่ผิด ไม่ถูกลงโทษ หลักการแบบนี้ควรนำมาพิจารณาใหม่หรือไม่”นายโภคิน กล่าว และว่าสำหรับรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น คณะรัฐประหารมุ่งหมายจัดการหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค มีบันได 4 ขั้น และวางกลไกย้อนหลัง องค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทำให้แบ่งแยกไปกันใหญ่ แต่รัฐบาลปัจจุบัน แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการเกิดให้ความปรองดอง ดังนั้นต้องมาดูรัฐธรรมูญที่จะจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งส่วนตัวอยากเสนอหลักการใหญ่ ๆ ให้ยึดรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นหลัก แต่หากมีตรงไหนไม่ดี ก็แก้ไขกันไป




"ส่วนเรื่องจิตสำนึก แม้เขียนในรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ได้ และนิรโทษกรรมทำไม่ได้ ต้องยึดถือในเรื่องของประเพณีการปกครอง แม้ปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องแก้ด้วยระบบประชาธิปไตย และการเรียนประชาธิปไตยไม่ได้มาจากโรงเรียนอย่างเดียว ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาทุกอย่างของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว ขึ้นอยู่กับกมธ.จะว่าเห็นอย่างไร แต่ต้องยึดประชาธิปไตย และทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด"นายโภคิน กล่าว และว่าสำหรับองค์กรอิสระนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ควรต้องถูกตรวจสอบจากศาล อีกทั้งควรต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะด้วย เพราะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยังถูกตรวจสอบ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์