"นายกฯ" ให้ความมั่นใจบริษัทธุรกิจชั้นนำของเกาหลีใต้ ย้ำ ไทยยังมีพื้นที่ลงทุนสำหรับนักลงทุนเกาหลีอีกมาก
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค. 2557 ว่า ในช่วงเช้านายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับภาคธุรกิจชั้นนำของเกาหลีใต้ ระหว่างรับประทานอาหารเช้า ที่โรงแรมลอตเต้โฮเตล ปูซาล โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจเกาหลี เช่น ผู้แทนองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนของเกาหลีใต้ บริษัท เควอเตอร์ บริษัท แอลจี อิเลคโทรลัค บริษัท ซัมซุบ และบริษัท ฮุนได มอเตอร์
โดยนพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองของไทย
เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินการตามโรดแม็พ เร่งสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศ โดยไทยพร้อมส่งเสริมให้ภาคเอกชนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะยังมีพื้นที่และโอกาสให้นักลงทุนเกาหลีอีกมาก โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และยังอยากให้เกาหลีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมถึงโครงการทวาย นอกจากนี้ไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครอบคลุมโดยเฉพาะด้านคมนาคม โดยทราบว่า เกาหลีสนใจในโครงการพัฒนาระบบราง ซึ่งไทยเคยลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบราง จึงจะใช้กลไกนี้หารือกันต่อไป
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการบริหารจัดการน้ำ การศึกษาดังกล่าวใกล้จะเสร็จแล้ว
โดยทราบดีว่า บริษัทเควอเตอร์ มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากเกาหลีในอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และยังมีการลงทุนด้านจัดการขยะ และพลังงานทดแทน ที่มีความร่วมมือกันได้ พร้อมขอให้ช่วยผลักดันการเปิดตลาด เพิ่มเติมให้แก่สินค้าไทยรวมถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากร ทั้งนี้ภาคเอกชนเกาหลีมีความมั่นใจต่อการลงทุนในไทยและได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาขยายการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนเกาหลีสามารถใช้บริการสำนักงานส่งเสริมการลงทุนทีกรุงโซลได้ โดยนายกฯเสนอให้เกาหลีส่งคณะผู้แทนภาคธุรกิจเยือนไทย เพื่อพบปะหารือและดูสถานการณ์จริง อีกทั้งนายกฯยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ อาทิ การทบทวน พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน.