ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (http://data.worldbank.org/country) คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2557 จะเติบโตประมาณ 2.5% และคาดว่าจะเติบโตเป็น 4.5% ในปี 2558 และ 2559 อย่างไรก็ตามโดยที่คาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตต่ำกว่า 2.5% ตามที่ธนาคารโลกคาดการณ์ คือเหลือเพียง 1-1.5% จึงอาจทำให้การคาดการณ์ในปี 2558 และ 2559 อาจจะต่ำกว่า 4.5% ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลกลงไปอีก
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ปรากฏว่าทุกประเทศเติบโตมากกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น
ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไนที่เจริญกว่าไทย 6 เท่าและธนาคารโลกไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบให้ อย่างประเทศที่เติบโตช้าที่สุดคือมาเลเซีย ก็เติบโตสูงถึง 4.9% และ 5% ในช่วงปี 2557-2559 นอกนั้นล้วนเติบโตในอัตราที่สูงกว่าไทยอย่างชัดเจนทั้งสิ้น ผลของความไม่ปกติทางการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน คงส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันไป ดังนั้นความจริงจึงกลายเป็นว่าประเทศเพื่อนบ้านต่างทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ยังไม่แซงไทยเท่านั้น ยกเว้น สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย
ข้อคิดสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีข้อมูลคลาดเคลื่อน อาจจำเป็นต้องทบทวนทีมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงกว่านี้
และอีกประการหนึ่ง นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ประเทศอินโดนีเซียที่เคยล้าหลังกว่าไทย ก็มีคะแนนองค์กรปราบปรามการทุจริตสูงสุด และปราบปรามการทุจริตอย่างได้ผล โดยไม่มีการที่ข้าราชการการเมืองในรัฐบาลไปร่วมประมูลงาน ไม่มีข้อครหาการจัดซื้อแพง หรือการทุจริตอื่นซึ่งแม้ขณะนี้ไม่มีนักการเมืองตามระบอบพรรคการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีการทุจริตเป็นอย่างมาก หากยังมีปรากฏการณ์ตบเท้าอวยพร รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการโอกาสต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง การทุจริตย่อมไม่อาจแก้ไขได้
ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาก็คือการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มากกว่าการมุ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศในทำนอง "อัฐยาย ซื้อขนมยาย"
ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการผลิตและการพัฒนาประเทศโดยรวม หากมีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับการอัดฉีดและเติบโตมากขึ้น โดยโครงการที่พึงพิจารณาก็คือการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนสัมปทาน รถไฟฟ้าสัมปทาน นิคมอุตสาหกรรมนานาชาติ เป็นต้น