นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า โดยทั่วไปร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีหมวดปรองดอง แต่หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะระบุเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญก็ถือว่าทำได้ตามสิทธิ ซึ่งตนเองขอยืนยันจุดยืนในการลดความขัดแย้งโดยการนิรโทษกรรมประชาชนทุกสีทุกฝ่าย โดยละเว้นแกนนำ เจ้าหน้าที่ รวมถึงนักการเมืองที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาในระบบศาลยุติธรรมตามขั้นตอนกฎหมาย
ส่วนการบริหารงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือนนั้น
นางธิดา กล่าวว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปและบริหารประเทศตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากเกรงว่าหากไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอาจส่งผลไปถึงการคว่ำบาตรจากต่างชาติอีกด้วย
ขณะที่กรณีข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ
ที่เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้เคยมีการเสนอสมัยที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งมองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีโดยตรงนั้น ปัญหาไม่ได้เกิดจากการเลือกของประชาชน แต่อาจมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วย เพราะมีปัญหาต่อการกระจายอำนาจของตนเอง ดังนั้น จึงมองว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง การที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่บัญชีรายชื่อหมายเลขหนึ่ง หรือจะให้คณะรัฐมนตรีอยู่ในหมายเลขต่อจากนั้นตามลำดับจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า นปช. ยังคงสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม