"นิด้าโพล" เผย ปชช.หนุนตัดสิทธินักการเมืองทำผิด ตลอดชีวิต เห็นด้วยให้ผู้บริหารท้องถิ่น เปิดเผยทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.” ระหว่างวันที่ 26 -27 พ.ย.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเมื่อถามถึงกรณีที่จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลตัดสินชี้ขาด พ้นจากตำแหน่ง ห้ามไม่ให้กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต (จากเดิมห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะผู้ที่เคยกระทำผิดไม่ควรกลับเข้ามาเล่นการเมือง จะได้ไม่เกิดการกระทำผิดอีก ถ้ากลับมาดำรงตำแหน่งอีกอาจเป็นเหมือนเดิม เป็นการคัดกรองและเปิดโอกาสให้คนที่มีคุณภาพ ตั้งใจทำงานเข้ามาแทนดีกว่า รองลงมา ร้อยละ 26.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะควรให้ระยะเวลา สิทธิ และโอกาสในการปรับปรุงตนเอง หากไม่ให้กลับเข้ามาเลยก็จะเป็นการเอาเปรียบและไม่ยุติธรรมแก่ผู้กระทำผิด และอาจเกิดเกิดปัญหาความแตกแยกตามมา
ส่วนกรณีที่เสนอให้ผู้บริหารท้องถิ่น, รองผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. (จากเดิมไม่มีกำหนดไว้)
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.40 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะเป็นการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ถึงที่ไปที่มาของทรัพย์สิน โดยเฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การตัดไม้ทำลายป่า (การค้าไม้เถื่อน) การยักยอกเงิน เป็นต้น เป็นการให้ความชัดเจนแก่ประชาชนด้วย มีเพียงร้อยละ 8.32 ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลที่จะเปิดเผยหรือไม่ก็ได้
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้อำนาจ ป.ป.ช. สามารถจับและคุมขังผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด
(จากเดิม ป.ป.ช. มีอำนาจแค่แจ้งให้ตำรวจดำเนินการ) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.64 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียวอาจจัดการได้ไม่ดีพอ หรือเกิดการติดสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ เป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการจับผู้กระทำผิดมารับโทษ เพราะบางครั้งส่งเรื่องให้อัยการแล้วบางทีเรื่องล่าช้า ผู้ที่กระทำผิดควรได้รับโทษตามกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 32.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจถึงขั้นดังกล่าวเป็นหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนเกินไป ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ และเป็นไปตามขั้นตอน.