26 พ.ย.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และแกนนำ กปปส.
ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว "สุริยะใส กตะศิลา" แสดงความเห็นถึงกรณีที่ ป.ป.ช.เสนอแก้ไข พรบ.ป.ป.ช.เพื่อเพิ่มอำนาจในการทำงาน เช่น ให้ ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องเองโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด และเมื่อฟ้องแล้วศาลต้องประทับรับฟ้องไม่ใช่ไต่สวนมูลฟ้องใหม่ เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบนมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือยื่นเท็จห้ามกลับมาเล่นการเมืองอีก เปิดเผยบัญชีทรัพย์ผู้บริหารการเมืองและข้าราชการท้องถิ่น คดีอาญาไม่มีอายุความสำหรับผู้หลบหนีคดี เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อเสนอเหล่านี้ถือว่ามีความแหลมคมอย่างยิ่ง และมาถูกจุด ส่วนตัวสนับสนุนและเห็นด้วยที่ต้องเพิ่มเขี้ยวเล็บให้ ป.ป.ช.
เพราะถือเป็นการใช้ยาแรงกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรงมากขึ้นแทบทุกวงการในปัจจุบัน ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามการทุจริตโดยตรงอย่าง ป.ป.ช.ซึ่งที่ผ่านมาความล่าช้า ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่หน้าที่ ป.ป.ช.โดนดึงเรื่อง เหล่านี้มักจะเป็นข้ออ้างของ ป.ป.ช.จนทำให้ไม่สามารถปราบปรามการทุจริตได้อย่างเท่าทัน
อย่างไรก็ตาม บทกำหนดโทษที่รุนแรงไปถึงขั้นประหารชีวิต หรือตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต
สำหรับการทุจริตบางกรณีนั้น ถามชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่ก็คงเห็นด้วยทั้งนั้น แต่ประเด็นที่น่าคิด และอาจกลายเป็นดาบ 2 คม คือ ประชาชนจะไว้ใจได้อย่างไรว่า อำนาจเด็ดขาดและรุนแรงเหล่านี้จะไม่ถูกใช้ไปกลั่นแกล้งสุจริตชน หรือถ้าวันหนึ่งมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ป.ป.ช.แล้วใช้ ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือเล่นงานกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ป.ป.ช.ก็น่าสะพรึงกลัวไม่น้อยเช่นกัน
ฉะนั้นโดยหลักการแม้จะเห็นด้วยกับการให้ยาแรง และติดดาบให้ ป.ป.ช.ก็ตาม
แต่ก็ต้องตอบโจทย์ว่า ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระจริงๆ ได้อย่างไร จะได้คนดีมีความรู้ความสามารถมาเป็น ป.ป.ช.ได้อย่างไร ที่มาของ ป.ป.ช.จะมาแบบไหนถึงจะน่าเชื่อ กระบวนการทำงานจะมีความโปร่งใสสาธารณะตรวจสอบได้อย่างไร และประการสำคัญบทลงโทษต่อ ป.ป.ช.ที่ใช้อำนาจตัดสินคนอื่น ถ้าพบว่า ป.ป.ช.ทุจริต ประพฤติมิชอบเสียเอง จะต้องมีบทลงโทษมากกว่าคนปกติธรรมดากี่เท่า ประเด็นเหล่านี้ก็ควรเป็นโจทย์ ต้องปรับปรุงพร้อมไปกับการเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.ด้วย