เมื่อเวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เป็นประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ครั้งที่ 3/2557 โดยที่ประชุมจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)โดยมีสาระสำคัญคือการปรับปรุงโครงสร้างของอปท. ให้มีความเข้มแข็งยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีกลไกการตรวจสอบของภาคประชาชนซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมาย โดยให้มีการส่งเสริมความเป็นอิสระในการทำงานและการจัดบริการสาธารณะของอปท.โดยเน้นให้มีการตรวจสอบภายหลังการปฏิบัติงานและเพิ่มอำนาจทางภาษีอากรให้แก่อปท.รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานร่วมกันโดยอิสระระหว่างกันและระหว่าง อปท. กับภาคส่วนต่าง ๆ และส่งเสริมให้มีการกำหนดภารกิจและอำนาจหน้าที่ของอปท.แบบอสมมาตรโดยคำนึงถึงบริบทของพื้นที่และศักยภาพในการปฏิบัติงานของอปท. แต่ละแห่ง
ทั้งนี้รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดบริการสาธารณะของอปท.ให้เป็นภาคีหุ้นส่วนกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและการส่งเสริมให้อปท.มีการพัฒนานวัตกรรมหรือตัวแบบการจัดบริการสาธารณะที่หลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดตั้งอปท.ขนาดใหญ่หรืออปท.รูปแบบพิเศษเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจโดยเห็นควรกำหนดให้นโยบายการกระจายอำนาจเป็นนโยบายสำคัญในการบริหารงานของรัฐบาล และบรรจุไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกำหนดมาตรการบังคับใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542 อย่างจริงจัง และส่งเสริมบทบาทของ ก.ก.ถ.ให้สามารถขับเคลื่อนแผนการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามงานเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณที่ค้างจากการประชุมครั้งที่แล้ว ซึ่งจะให้งบประมาณกับ อปท.ประมาณ 20 เปอร์เซ็นแต่จะต้องส่งไปยังสำนักงบประมาณพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ ส่วนที่มีการแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีดูแลพื้นที่ทั่วประเทศนั้น เป็นผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการพูดคุยว่าจะมีการดำเนินตรวจเยี่ยม จัดสรรงบประมาณกันอย่างไรให้แต่ละพื้นที่สอดคล้องกัน และในส่วนของรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแต่ละพื้นที่นั้น มีงบประมาณฉุกเฉินสำหรับพัฒนาพื้นที่จังหวัดละไม่เกิน 10 ล้านบาท
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า วันนี้มีการประชุมถึงกรณีที่ธนาคารโลกจัดลำดับความน่าเชื่อถือสำหรับการลงทุนในทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยจากเดิมอยู่ในลำดับที่ 28 แต่ขณะนี้เป็นที่ 26 แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ว่าจะอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ แต่อยู่ที่ข้อห่วงใยสำหรับการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความล่าช้าในกระบวนการข้ออนุมัติในด้านต่างๆ