นายกรัฐมนตรีแจงผู้นำโลกที่เข้าร่วมประชุมเอเปคประเทศจีน ยืนยันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ความสงบสุขแล้ว แต่ขอเวลาทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ระหว่างเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปกช่วงที่ 1 ภายใต้ประเด็นการก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค จากนั้นเวลา 11.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จากนั้นผู้นำเอเปกปลูกต้นไม้ร่วมกันที่สวนซัมเมอร์การ์เดน
เวลา 12.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการหารือระหว่างอาหารกลางวัน
ภายใต้ประเด็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และช่วงบ่ายเป็นการประชุมผู้นำเอเปกช่วงที่ 2 ภายใต้ประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเจริญเติบโต ซึ่งภายหลังเสร็จการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ และคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศไปยังกรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ต่อไป
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกครั้งนี้ว่า
ได้เข้าหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจีนมีความต้องการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหม ผู้นำจีนรู้สึกว่าไทยกับจีน น่าจะร่วมกันตรงนี้ เพราะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีน เส้นทางก็ทำเชื่อมกันอยู่แล้วในปัจจุบันมีการปรับปรุงขยายเส้นทางกันอยู่แล้วในแต่ละประเทศ ประเด็นสำคัญคือเรื่องการขนส่งสินค้าต้องมีความเชื่อมโยงกัน
อย่างไรก็ตาม หลังประชุมเอเปกเสร็จสิ้น ที่ประชุมออกแถลงการณ์ร่วมในโอกาสก่อตั้งเอเปกครบ 25 ปี
สร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนของเอเชีย-แปซิฟิก ระบุการทำงานตลอด 25 ปี ประสบความสำเร็จหลายด้าน การเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และลดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปกและเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นสำคัญของประวัติศาสตร์ และกำลังเผชิญกับโอกาสและความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งการรวมตัวกันวันนี้เป็นการให้คำมั่นที่จะสร้างความต่อเนื่องจากความสำเร็จในอดีตของเอเปก และสร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนของเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ความครอบคลุมรอบด้านอย่างมีนวัตกรรม โดยความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
โดยยืนยันจะบรรลุข้อตกลงโบกอร์ภายในปี พ.ศ.2563
และจัดศึกษาความเป็นไปได้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการก่อตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกภายในปี พ.ศ.2568 และมุ่งมั่นจะปฏิบัติตามพิมพ์เขียวด้านการสร้างความเชื่อมโยง และบรรลุเป้าหมายที่ครอบคลุมในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เชื่อว่าความพยายามต่างๆ จะนำพาเอเชีย-แปซิฟิกสู่อนาคตอันสดใส เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้น มีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนอันเกิดจากนวัตกรรมและการปฏิรูป และจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป