คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน
โดย การ์ตอง
ความชื่นชมยินดีของประชากรการเมืองฝ่ายต่อต้านเครือข่ายชินวัตร เริ่มมีให้เห็นใน 2 เรื่อง
หนึ่งท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเรียกร้องให้สื่อมวลชนงดเสนอข่าวและภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเหตุผลเพื่อลดความขัดแย้งแตกแยก
สอง เสียงส่วนใหญ่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โหวตให้นำเรื่องถอดถอนอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีตประธานวุฒิสภาเข้าสู่วาระการพิจารณา
เป็นความยินดีปรีดาในระดับที่บางคนในกลุ่มถึงขั้นออกมาไชโยโห่ร้อง ในอารมณ์เดียวกับการนัดเป่านกหวีดประกาศความสำเร็จที่การเคลื่อนไหวกดดันประสบความสำเร็จเมื่อครั้งร่วมชุมนุมใหญ่
เป็นความชื่นชมยินดีที่การบริหารประเทศเป็นไปรูปแบบทิศทางที่อยากจะให้เป็น
การเมืองของประเทศที่เดินมาถึงการเปิดทางให้กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้ง ข้ออ้างสำคัญคือเกิดความแตกแยกของคนในชาติที่ไม่มีหนทางอื่นเยียวยาได้ จำเป็นต้องใช้อำนาจที่เด็ดขาดเข้ามาจัดการ
คือความเป็นจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้
เพียงแต่การแก้ปัญหาความแตกแยกมีแนวคิดในการจัดการ 2 ทาง
ทางหนึ่ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดความปรองดอง ทั้งสองฝ่ายยังอยู่ร่วมกันได้ เห็นต่างกันไม่เป็นปัญหาของการอยู่ร่วม
อีกทางหนึ่ง ทำให้เป็นชัยชนะที่เด็ดขาดของฝ่ายหนึ่ง กดข่มอีกฝ่ายไม่ให้เผยอหน้ามาแสดงความคิดที่แตกต่าง สร้างความขัดแย้งขึ้นมาอีก
ในช่วงต้นของการเข้าควบคุมอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำ แสดงออกคล้ายกับเลือกหนทางแรก ดูจากการเรียกบุคคลเข้ามารายงานตัว เป็นจากคนทั้ง 2 ฝ่าย
เรียกมาทำความเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกัน
วิธีการเช่นนี้ได้รับการยอมรับไม่น้อย ที่เห็นชัดคือทำให้ทุกฝ่ายหยุดดู
อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ใช้ "การอยู่ร่วมกัน" เป็นเป้าหมาย ก่อให้เกิดความผิดหวังในใจของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มุ่งมั่นจะต้องขจัดกลุ่มที่เห็นว่าเป็นศัตรูการเมือง เป็นอุปสรรคอำนาจให้หมดสิ้น
คนที่อยู่ในความกลัวว่าหากไม่จัดการให้สิ้นซาก พวกเขาจะต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้อีก ค่อยๆ แสดงความอึดอัดของตัวเองออกมาในรูปของเสียงเรียกร้อง และความเคลื่อนไหวต่างๆ กดดันให้การจัดการเป็นไปทางทิศทางที่ต้องการ
จากที่การสนองตอบไม่มีมากนัก กระทั่งล่าสุด
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนไม่ให้นำเสนอความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ
และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้เริ่มกระบวณการถอดถอนอดีตผู้นำสภาทั้ง 2 คน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีข่าวยืนยันมาตลอดว่า การดำเนินการที่ส่อถึงการไล่ล้างเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น
ทิศทางการจัดการที่สะท้อนมาจาก 2 เรื่องนี้เป็นที่มาของเสียงชื่นชมยินดีในหมู่ผู้นิยมการกวาดล้างความขัดแย้งทางการเมืองไม่สิ้นซาก ไม่เชื่อในแนวทางปรองดองให้ความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้
เป็นความดีใจที่เกิดจากสัมผัสได้ถึงแนวโน้มในทิศทางที่ผู้มีอำนาจเริ่มโอนเอียงมาทางความคิดของฝั่งตัว
เป็นเสียงไชโยโห่ร้องที่เกิดจากการสัมผัสและรู้สึกได้ว่าท่าทีของผู้มีอำนาจเริ่มเข้าทางความต้องการของฝั่งตัว
ทว่านั่นเป็นความรู้สึกของฝ่ายเดียว
อีกฝ่ายหรือคนส่วนใหญ่รู้สึกอย่างไรกับท่าทีในทิศทางเช่นนี้เป็นเรื่องน่าประเมินไม่น้อย
การหายไปของ "ทักษิณ ชินวัตร" จากหน้าสื่อมวลชน
เป็นการหายไปจากความสนใจใคร่รู้ของคนทั่วไปได้จริง
หรือจะทำให้เกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปไกล จนเกินความเข้าใจของคนบางกลุ่มบางพวก