"กิตติรัตน์" โพสต์วิพากษ์มาตรการแก้เศรษฐกิจของรัฐบาล จี้อย่าก่อหนี้แล้วโยนให้คนอื่น
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก
แสดงความคิดเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนโพสต์ข้อความ เรื่อง “แกล้งหรือโง่จริง”...เมื่อคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองพูดเรื่อง โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศฯ ของรัฐบาลที่แล้ว ราวกับว่าพ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาของทั้งครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เจตนาจะให้มีการกู้เงินมากองไว้ แต่รัฐบาลปัจจุบันจะทำดีกว่าด้วยการจะทยอยกู้ ซึ่งตนชี้แจงว่าวิธีคิดและปฏิบัติแบบกู้เงินมากอง มีเพียง “โครงการไทยเข้มแข็ง” ของรัฐบาลก่อนๆ เท่านั้น รัฐบาลสมัยตน เราไม่ทำให้สิ้นเปลืองดอกเบี้ย รวมทั้งยังใส่ใจที่ดูแลภาระหนี้เดิมก้อนใหญ่กว่า1.1 ล้านล้านบาท เมื่อครั้งกู้มาอุ้มธนาคารฯ สมัยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งให้มีการชำระหนี้ ซึ่งรัฐบาลก่อนๆ ต้องตั้งงบประมาณไปชำระดอกเบี้ยปีละประมาณ 7หมื่นล้านบาท โดยไม่ได้ชำระเงินต้นให้ลดลง จนยอดรวมดอกเบี้ยที่จ่ายไปสูงจนจะไล่ทันยอดเงินต้นอยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่แล้วก็จัดการดำเนินการให้กลไกการชำระหนี้กลับไปเป็นของระบบสถาบันการเงิน ประหยัดงบประมาณดอกเบี้ยในแต่ละปี และยอดเงินต้นดังกล่าวก็กำลังลดลงอย่างน่าพอใจ
รัฐบาลที่แล้วมีแนวทางบริหารหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนสร้างระบบคมนาคมขนส่งฯที่จะสามารถคงอยู่และยังประโยชน์จนชั่วลูกหลานเหลน โหลน
ตามแผนแม่บทที่ได้พิจารณากันมาอย่างรอบคอบ โดยกำหนดให้มีแผนการชำระหนี้ที่ชัดเจนจนหนี้หมดสิ้นจนบาทสุดท้ายด้วย ในขณะที่ตนไม่เคยได้ยินผู้รับผิดชอบในรัฐบาลนี้พูดอะไรที่เกี่ยวกับแผนการใช้หนี้ที่รัฐบาลนี้กำลังก่อขึ้นมั่นใจว่าคนพูดไม่ได้โง่จึงเชื่อว่าแกล้งโง่…คิดอยู่เหมือนกันว่าข้อความของตนอาจไปกระตุกให้ผู้รับผิดชอบทางการคลังของประเทศหาทางออกมาพูดเรื่องการใช้หนี้ในลักษณะที่คิดอะไรใหม่ไม่ออกก็ให้สุมไฟใส่เรื่องสมัยรัฐบาลที่แล้วและด้วยความเกรงใจท่านที่นั่งทำงานอยู่ที่กระทรวงการคลังที่วัยวุฒิที่มากกว่าตนมาก แต่เรื่องอื่นไม่มีข้อมูล
นายกิตติรัตน์ ระบุอีกว่า การพูดว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วจะมีผลขาดทุน 6 ถึง 7 แสนล้านบาท
จนต้องไปดำเนินการกู้เงินระยะยาวมาอุดยอดดังกล่าวจนเป็นภาระชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งรัฐบาลจะมีความสามารถในการกู้ได้เพียงร้อยละ 10 ต่อปีของยอดดังกล่าว ไม่เป็นความจริง จึงให้ท่านควรเรียกลูกน้องมาสอบถาม 3 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรก ภาระหนี้ของการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลก่อนนั้น ครอบคลุมสินค้าเกษตรหลายชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง มียอดรวมกัน 86,086 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลที่แล้วก็ได้ช่วยดูแลให้มีการลดยอดหนี้ลงมาจนเหลือเป็นจำนวนเท่านี้ สันนิษฐานได้ว่าท่านก็เอายอดนี้มาเหมารวมเอาไว้ด้วยจนกลายเป็นตัวเลข 6 ถึง 7 แสนล้านบาทที่ท่านเข้าใจผิดๆ
เรื่องที่สอง ยอดหนี้รวมที่รัฐบาลที่แล้วใช้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว เป็นการสนับสนุนภารกิจของธกส.
ให้ระดมเงินจากตลาดการเงินที่มีสภาพคล่องอย่างเหลือเฟือ โดยรัฐบาลทำหน้าที่ค้ำประกันตามกรอบวินัยการคลังอันเคร่งครัด ยอดเงินที่ใช้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีการระบายข้าวในคลังออกไป ในขณะที่ตนทำหน้าที่ที่กระทรวงการคลัง ยอดหนี้รวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 5แสนล้านบาท และดำเนินการระบายข้าว ควบคู่ไปกับการระดมเงินเพื่อชำระค่าข้าวคงค้างต่อชาวนาเพื่อประคองในช่วงเวลาที่เงินรายได้จากการระบายข้าวยังเข้ามาไม่ทันหากรัฐบาลนี้ใส่ใจกับหลักการที่ถูกต้องของโครงการรับจำนำดูแลให้มีการระบายข้าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ“ยอดหนี้จะอยู่ในระดับต่ำสมแก่สถานะของการเป็นเงินทุนหมุนเวียนของโครงการรับจำนำฯ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปจัดทำเป็นพันธบัตรระยะยาวให้เป็นที่เข้าใจผิดแก่ใครต่อใคร และจัดสรรงบประมาณประจำปีเข้าไปดูแลชำระคืนธกส.ให้เหมาะสม ซึ่งประมาณได้ว่าจะเป็นยอดเงินเพียงไม่เกินร้อยละ 5 ของยอดรวมงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะสามารถดูแลครอบครัวชาวนาประมาณ 4 ล้านครัวเรือนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ยังสามารถทำให้กลไกเศรษฐกิจที่สำคัญ คือกำลังซื้อในประเทศมีความเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเข้มแข็ง เจริญเติบโต และรัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษีใดๆด้วย
“หากตั้งใจจะออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อถ่วงเวลาชำระหนี้ตามวิสัยที่มักจะคุ้นเคยคือมีหนี้แล้วไม่อยากจะใช้คืนแล้วจะเอางบประมาณไปทำเรื่องอะไรอื่นก็ควรพูดออกมาตรงๆแต่ถ้าเจตนาจะทำให้เป็นความเข้าใจผิดเพื่อป้ายสีกันก็ขอถือโอกาสตำหนิผู้อาวุโสมาก ด้วยความไม่เกรงใจ”
เรื่องที่สาม ตนสังเกตเห็นว่า โครงการประชา(ไม่)นิยมที่จ่ายเงินแก่ชาวนา และเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไร่ละ 1,000 บาท
ก็ได้ใช้วิธีทางการเงินวิธีเดียวกับที่ทุกรัฐบาลดำเนินการมา คือให้ธกส.สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งเป็นการก่อหนี้เพิ่มเพื่อช่วยเกษตรกร แม้ไม่รับจำนำ (แต่มีโครงการสินเชื่อชะลอการขาย แบบฝากไว้ที่ยุ้งฉางของชาวนา วาทกรรมกายกรรม) โปรดระวังการคอร์รัปชั่นแบบล่องหน คือ ไม่ได้ปลูกจริงแต่มารับเงินไปโดยไม่ต้องมีผลผลิตมาแสดง และไร้ร่องรอยเพื่อการตรวจสอบด้วย เพื่อนร่วมงานของท่านในรัฐบาลนี้ที่คิดเรื่องนี้ เขามาสารภาพกับกับท่านหรือยังครับว่า ท้ายที่สุดเขา “ตั้งใจจะเอาภาระใหม่ๆ นี้มารวมกับยอดเก่าๆ แล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ป้ายสีให้รัฐบาลก่อน หรือเขาจะทำเป็นลืมเหมือนหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่ออุ้มธนาคารฯ สมัยต้มยำกุ้ง หรือหนี้โครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการประกันรายได้ของคู่แข่งทางการเมืองของพวกผม สมัยยังเป็นประชาธิปไตยได้เคยทิ้งเอาไว้แบบไม่มีแผนชำระคืน”
ตนยังคงตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่จะให้กำลังใจรัฐบาลและผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจให้ทำงานให้เป็นผลดีผลสำเร็จตนขอสงบปากสงบคำกับแนวคิดมาตรการทางเศรษฐกิจสิบกว่าข้อของรัฐบาลนะครับเห็นว่าดีก็ทำไปจะเอาใจช่วยให้สำเร็จ ผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะได้ไม่ลำบากยากเข็ญนัก ทั้งนี้ขอฝากข้อคิดแบบให้กำลังใจแก่ท่านว่า “ท่านสามารถเป็นคนเก่งคนดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นดูเหมือนเป็นคนเลว”
กิตติรัตน์ โพสต์วิพากษ์มาตรการแก้เศรษฐกิจของรัฐบาล
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง กิตติรัตน์ โพสต์วิพากษ์มาตรการแก้เศรษฐกิจของรัฐบาล