3 พ.ย.57 นายพิชิต ชื่นบาน อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เปิดเผยว่า คณะทำงานด้านกฏหมายได้ข้อยุติที่จะนำเรื่องเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อจัดทำเป็น “คำคัดค้านคำสั่งประธาน สนช. เรื่องนำสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าวาระการประชุม สนช. ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ โดยมีประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะคัดค้านคดีถอดถอนดังนี้
1.หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ คดีถอดถอนมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้หากรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้อำนาจไว้
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มิได้กำหนดให้อำนาจ “เรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
3.ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 เฉพาะหมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่เป็นไปตาม “หลักนิติธรรม”และหลักการตรากฎหมายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหมากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ (GENERAL WILL)
4.ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 เฉพาะหมวดที่ 10 ว่าด้วย การถอดถอน และการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง ในส่วนที่ 1 การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต “เป็นการขัดหรือล้างประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 5”
5.ประธาน สนช. หรือวิป สนช. ไม่อาจ “เลือกปฏิบัติ” ในการ “เลือกฐานความผิด” ในการดำเนินคดีถอดถอนให้ผิดไปจากมติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานะผู้ถูกกล่าวหาตามข้อบังคับหมวด 10 ส่วนที่ 1 ที่ปรากฏ ตามรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติหากผ่าฝืนปฏิบัติถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อ“หลักนิติธรรม”และรัฐธรรมนูญมาตรา5 เสียเอง
6. อ้างบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่มี “บทบังคับโทษ” มาเป็นเหตุถอดถอนไม่ได้
7. ความเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพฤติมิชอบแห่งชาติ พ.ศ. 2542