31 ส.ค. 57 เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น
ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 45 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ และคณะกรรมการบริการจัดการน้ำและอุทกภัย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ในการออกแผนแม่บทโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน 9 แผนงาน โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นเพียงแผนงานในอนาคต และหลายโครงการเป็นเพียงกรอบแนวคิดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมทั้งยังไม่มีผลบังคับใช้
อีกทั้ง ที่สำคัญยังไม่ได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามผังเมืองรวม
ตลอดจนยังไม่ใช่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน จึงยังไม่มีผลกระทบต่อส่วนได้เสียต่อประชาชน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2 ที่กำหนดให้รัฐต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนดำเนินการ และเมื่อเล็งเห็นเบื้องต้นว่า โครงการใดมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ผู้เดือดร้อนก็สามารถไปฟ้องศาลให้เพิกถอนเป็นรายโครงการไป
ส่วนที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานรัฐให้คู่สัญญา เป็นผู้จัดการทำประชาพิจารณ์นั้น
ซึ่งอาจมีการเบี่ยงเบนผลที่ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ศาลเห็นว่าการให้เอกชนกำกับดูแลย่อมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว หากพบข้อบกพร่องหน่วยงานของรัฐก็ต้องให้เอกชนกลับไปแก้ จึงจะเซ็นต์ตรวจรับงานและเบิกจ่ายค่าจ้างทำงานได้ ดังนั้นจึงถือว่าสามารถทำได้ และไม่ได้เป็นเหตุชวนให้เกิดความลังเลสงสัยว่าผลการศึกษาไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด
สำหรับคำฟ้องว่ารัฐใช้วิธีการพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง
ศาลเห็นว่า หากมีการดำเนินโครงการรัฐสามารถที่จะเลือกใช้วิธีการบริหารโครงการได้ตามดุลพินิจของผู้ว่าจ้างด้วยวิธีการใดก็ได้เพื่อให้โครงการดำเนินการเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ ซึ่งการกำหนดวิธีการจ้างดังกล่าวไม่ได้มีผลให้แผนบริหารจัดการน้ำไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ด้านนายศรีวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ยอมรับว่าเสียใจกับคำพิพากษา แต่ยืนยันว่าภาคประชาชนจะยังทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการและนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนต่อไป
นายศรีวรรณ กล่าวอีกว่า แม้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ในรัฐบาลปัจจุบัน
กรณีที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้มีการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม ภัยแล้ง และน้ำเน่าเสีย โดยมีการทำประชาพิจารณ์ในภาคเหนือแต่ไม่ครบทุกจังหวัดนั้น ทางสมาคมได้ทำหนังสือท้วงติงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าอยากให้มีการทำประชาพิจารณ์ให้รอบด้าน และหากไม่มีการดำเนินการ ก็จะฟ้องร้องต่อศาลต่อไป