เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคัดเลือกประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ในวันที่ 21 ตุลาคม ว่า สำหรับแนวคิดในการคัดเลือก คือ
1. ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และสามารถดำเนินการประชุม รวมถึงวางระบบในการทำงานในกรณีที่มีความเห็นที่หลากหลาย 2. ต้องเป็นคนที่มีความรอบรู้พอสมควร เพราะประเด็นที่พูดคุยกันกว้างถึง 11 ด้าน ถือว่าเป็นงานที่ยาก ดังนั้นในช่วง 1 ปีข้างหน้าจะมีการปฏิรูปกันเยอะ จึงหนีไม่พ้นที่จะมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ขอให้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่ในขอบเขตที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ความขัดแย้ง
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้ง และมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า
คนแต่ละคนนั้นจะแสดงความเห็นไม่เหมือนกัน สิ่งที่ตนอยากเห็นคือการเมืองปฏิรูปและทำอย่างไรไม่ให้มีการทุจริต ทำอย่างไรให้นักการเมืองที่เข้ามานั้น ประชาชนมั่นใจ ศรัทธา ทำงานเพื่อส่วนรวม เช่น จะเลือกตั้งระบบไหนอย่างไร จะวางความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร บทบาทพรรคการเมืองเป็นอย่างไร
ฉะนั้นต้องยอมรับว่า บรรยากาศของการปฏิรูปนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีลักษณะของความราบรื่น ความเรียบร้อย ทุกคนจะมาพูดตรงกัน
และต้องยอมรับว่ากระบวนการของการทำงานด้านการปฏิรูปนี้ จะต้องดึงการมีส่วนรวมของสังคมในวงกว้าง เพราะฉะนั้นต้องเริ่มปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงแล้ว ว่าต่อไปนี้ประเด็นการปฏิรูปจะมีการเสนอประเด็นหลากหลาย มีการถกเถียง มีความสับสน และอาจจะมีความขัดแย้งทางความคิด
ถามว่าจะปฏิรูปอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่จะให้ฝ่ายที่ไม่ค่อยเห็นด้วยยอมรับ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
คงเป็นไปได้ยากที่จะมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูป อย่าลืมว่าการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงอาจถึงขั้นถอนรากถอนโคนก็ได้ และการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมไปกระทบโครงสร้างในปัจจุบันไม่มากก็น้อย ดังนั้นความสำคัญก็อยู่ที่การสร้างความชอบธรรมที่ดีที่สุดที่จะทำได้ แต่สุดท้ายอยู่ที่ผลงานที่ออกมาว่า มีเหตุพอหรือไม่ แก้ปัญหาตรงกับความต้องการของสังคม และเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางตามสมควรหรือไม่ ถ้ากระบวนการเป็นที่ยอมรับ ข้อเสนอออกมามีเหตุผล อาจจะไม่ถูกใจ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นภูมิคุ้มกันให้ข้อเสนอนั้นได้รับการยอมรับ แล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ แล้วก็นำไปสู่การสานต่อได้