"สมจิตต์" เผยปรับอำนาจศาลรธน. ชี้เข้าทางเผด็จการเสียงข้างมากดูได้ยุคแม้ว -"นพดล" มุบมิบไม่ผ่านสภา ไทยเสียหายปมเขาพระวิหาร อีกทั้งแก้ที่มาของสว. เอื้อประโยชน์เสียงข้างมาก
วันนี้ ( 15 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเพจนามว่า "สมจิตต์ นวเครือสุนทร" เหยี่ยวข่าวข่าวชื่อดัง ได้แสดงความเห็นว่าหากมีการลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลเป็นอย่างไร โดยระบุข้อความทั้งหมดว่า "คิดให้ดีก่อน “ลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญ”
พิมพ์เขียว คสช.ที่กำหนดกรอบ 11 ด้านส่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. โดยมีเนื้อหาระบุถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นตุลาการพระธรรมนูญ จำกัดอำนาจให้พิจารณาเฉพาะการตีความกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถือเป็นแนวทางที่เปลี่ยนแปลงหลักการถ่วงดุลอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ ทักษิณ ชินวัตร ต้องการมาโดยตลอด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถบริหารประเทศตามอำเภอใจโดยใช้เผด็จการเสียงข้างมากได้ เนื่องจากมีศาลรัฐธรรมนูญค้ำยันอยู่
ถ้า คสช.ต้องการลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญ ต้องคิดด้วยว่าหากลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีกลไกใดมายับยั้งความเสียหายจากการบริหารประเทศที่ขัดหลักธรรมาภิบาลและการฉ้อฉลอำนาจประชาชนผ่านรัฐสภาที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
อำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มี 9 ประการ คือ
1 การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย และร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่จะประกาศใช้บังคับมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2 การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้วมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
3 การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
4 การวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ กรรมาธิการ กระทำการใดเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่
5 การวินิจฉัยปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป
6 การวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมือง การพิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
7 การวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรีและกรรมการการเลือกตั้ง
8 การวินิจฉัยหนังสือสนธิสัญญาใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่
9 อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 (อำนาจยุบพรรค)
ตัวอย่างคำวินิจฉัยจากบทบาทศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 50
1 แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หนุนเขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
ถ้าลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญลงต่อไปการทำสัญญากับต่างประเทศต้องเข้ารัฐสภาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของฝ่ายบริหารใช่หรือไม่ เท่ากับเป็นการลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร หากได้ผู้บริหารเลวจะมีกลไกใดยับยั้งความเสียหาย?
2 วินิจฉัยการสิ้นสภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น สมัคร สุนทรเวช ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฯลฯ
ถ้าลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญลงเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอยู่ในตำแหน่งได้จนครบวาระแม้ว่าจะทำผิดกฎหมาย หรือขาดคุณสมบัติ?
3 วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย
ถ้าลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญลง ใครจะชี้ขาดเรื่องยุบพรรคหรือว่าจะกำหนดไม่ให้มีการยุบพรรคแล้ว?
4 ยับยั้งเผด็จการเสียงข้างมากแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตัวเอง กรณีที่มา ส.ว.และมาตรา 190
ถ้าลดบทบาทศาลรัฐธรรมนูญลง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภาดำเนินการโดยใช้เสียงข้างมากตัดสิน
นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือ?"