′จาตุรนต์ ′โพสต์เฟซบุ๊กค้านแยกโครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาฯ แนะหันไปปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการศธ. ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Chaturon Chaisang” กรณี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ศึกษาว่าควรจะแยกตัวออกจาก ศธ.หรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างกระทรวงปัจจุบันใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไปทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว โดย สอศ.ให้ศึกษาว่าควรแยกตัวไปจัดตั้งเป็นอีกกระทรวงหรือไม่ สกอ.ให้ศึกษาว่าให้แยกออกไปตั้งเป็นทบวงหรือกระทรวง ขณะที่ สกศ.ให้ศึกษาว่าควรจะกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยให้เวลา 1 เดือน ว่า
เห็นข่าวปฏิรูปการศึกษากำลังพูดกันเรื่องการจัดโครงสร้างกระทรวงกันใหม่
ก่อนหน้านี้ก็มีพูดกันเรื่องการแยกสกอ.ออกไปเป็นทบวงอยู่บ้างแล้ว คราวนี้มีการเสนอให้แยกสกศ.ออกไปด้วยซึ่งก็จะคล้ายกับก่อนรวมทุกส่วนเข้ามาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน แต่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกคือมีการเสนอให้แยกอาชีวศึกษาออกจากกระทรวงไปด้วย ต้องบอกว่าไปกันใหญ่แล้ว
การรวมหน่วยงานต่างๆที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากความคิดของนักการศึกษาไทยเมื่อประมาณ 15 ปีก่อนนั้น
เป็นความพยายามให้เกิดการทำงานประสานกัน เชื่อมโยงกันของหน่วยงานด้านการศึกษา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่การรวมกันเป็นกระทรวงเดียวนี้ไม่ใช่ไม่มีข้อเสีย แม้แต่การประสานร่วมมือกันหรือการทำงานที่เป็นเอกภาพก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างที่ออกแบบไว้ นอกจากนั้นองค์กรบางองค์กรก็อาจถูกลดการให้ความสำคัญในด้านงบประมาณลงไปเช่นอุดมศึกษาเป็นต้น
แต่ปัญหาใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาที่สำคัญกว่าที่กล่าวไปแล้วก็คือวงการศึกษาได้ใช้เวลา
ส่วนใหญ่ไปกับการจัดโครงสร้างองค์กรและดูแลผลกระทบจขากการจัดโครงสร้างองค์กรโดยให้ความสนใจต่อการปฏิรูปการศึกษาในความหมายของการปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอน การผลิตและพัฒนาครูน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้เน้นคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาและยังไม่แก้ปัญหาโดยเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆเข้าด้วยกัน
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในช่วงนี้จึงไม่ใช่การมาจัดองค์กรกันใหม่ เพราะจะทำให้บุคลารทางการศึกษาทั้งหลายจะต้องสาละวนอยู่กับการจัดองค์กรและสนใจว่าการจัดองค์กรจะเกิดผลกระทบต่อตนเองอย่างไรมากกว่าจะให้ความสนใจกับการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ
สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษาของไทยทุกระดับทุกประเภทมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของประเทศได้ดีขึ้น
ความจริงในวงการศึกษาทั้งในและนอกกระทรวง ทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาและแนวทางในการปฏิรูปไว้แล้วพอสมควร หากมีการนำมาพูดคุยกันต่อด้วยเหตุด้วยผล อะไรไม่ดีก็ไม่ต้องทำ อะไรดีก็ทำให้ต่อเนื่อง จะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่จะเปลี่ยนประเด็นไปเป็นการจัดโครงสร้างองค์กรแล้วลืมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะทำให้การศึกษาของประเทศไทยต้องล้าหลังลงไปอีก