เปิด 3 ตัวเต็งชิงดำเก้าอี้ปธ.สปช. "ชัย-ชัยอนันต์-เทียนฉาย" พร้อมทั้งคุณวุฒิ-วัยวุฒิ ขณะที่ "พารณ" อาวุโสสูงสุด จะนั่งเป็นปธ.การประชุมนัดแรก
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน โดยสามารถตรวจเช็กรายชื่อได้ตามลิงก์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/199/1.PDF
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คนในราชกิจจานุเบกษา หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่า “ใคร” จะเหมาะสมได้รับคัดเลือกเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ 2557 ซึ่งหากพิจารณาจากประสบการณ์และความเหมาะสมด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิ เชื่อว่ามีบุคคล 3 ท่าน ที่เข้าข่ายเหมาะสมกับการชิงดำตำแหน่งนี้ได้
เริ่มจาก นายชัยชิดชอบ ในวัยอายุ 86 ปีอดีตประธานรัฐสภาปี 2551 อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน พรรคภูมิใจไทย, อดีต ส.ส.หลายสมัย และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ เรียกได้ว่าพร้อมด้วยวัยวุฒิมากที่สุดในกระบวนสมาชิกสปช.ทั้งหมด ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเวทีจนได้รับฉายาว่า "ปู่ชัย" หรือ "ลุงชัย" อีกทั้งยังมีศิลปะทางการพูดมุกตลกและลีลาในการนั่งบัลลังก์อันแพรวพราวมีลูกล่อลูกชนจนหาตัวจับยากด้านคุณวุฒิก็ไม่ด้อยน้อยหน้าใครเพราะจบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิตสาขารัฐศาสตร์ ม.รามคำแหงปริญญาตรีสาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขารัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
คนต่อมาคือ ศจ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประธานคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2542 อดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ ม.วิกตอเรียประเทศนิวซีแลนด์สำเร็จปริญญาโทและปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ ม.วิสคอนซินสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาศ.ดร.ชัยอนันต์มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด ทั้งในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ต ต.ค.2516 และในปี พ.ศ.2531 เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รณรงค์ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ล่าสุดเป็นผู้หนึ่งที่เคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และล่าสุดเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงพ.ศ.2553 ยุติลงทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
สุดท้ายที่น่าจับตามอง คือ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ศาสตราจารย์กิตติคุณดีกรีจบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,M.A. (Economics & Demography) มหาวิทยาลัยฮาวาย,A.M. และ Ph.D.ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ซึ่งเชื่อว่าความรู้ความสามารถของท่านเหล่านี้จะสามารถช่วยบริหารบ้านเมืองในประเทศได้เป็นอย่างดี
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปต้องมีการเรียกผู้ได้รับการทูลเกล้าฯ เข้ารายงานตัว จากนั้นคือการเรียกประชุมนัดแรก ซึ่งการประชุมคงต้องใช้ข้อบังคับอื่นที่มีอยู่ อาจใช้ข้อบังคับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยอนุโลมก็ได้ โดยผู้จะทำหน้าที่ประธานเปิดการประชุมนัดแรกคือนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เพราะมีอาวุโสสูงสุด จากนั้นจะมีการเลือกประธานและรองประธานสปช. โดยตำแหน่งรองประธานจะมี 1-2 คนขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ต้องไม่เกิน 2 คนตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องที่สปช.ต้องเร่งทำคือ เร่งกระบวนการปฏิรูปประเทศให้เร็วที่สุด