พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า "สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรัก สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน เพื่อทรงฟื้นฟูพระวรกาย
หลังจากที่เสด็จฯ ประทับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทรงตรวจพระวรกายตามการถวายคำแนะนำของคณะแพทย์ พสกนิกรต่างพร้อมใจกันถือธงชาติและธง ภปร. รับเสด็จ เนืองแน่นตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมกับเปล่งเสียงทรงพระเจริญเพื่อถวายความจงรักภักดี ทั้งสองพระองค์ได้ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวล ซึ่งสร้างความปีติยินดีให้กับพสกนิกรที่มารับเสด็จและประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าเป็นล้นพ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นสัปดาห์แรกที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ได้ทำงานในการบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังจากที่ได้แถลงนโยบายแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้แบ่งมอบงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 5 ท่าน กำกับดูแลงานของกระทรวงต่างๆ โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง (กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ (กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ท่าน ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านสังคมจิตวิทยา
(กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศ และกิจการอื่น ๆ (กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม)
ท่าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม) ผมเองก็ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการต่างๆ ไปแล้ว พวกเราทั้งหมด ทั้งรัฐบาล ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ก็จะปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถ ในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคน อย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม
เรื่องของการปฏิรูป เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกด้านได้ประชุมหารือกัน วางแนวทาง หลักเกณฑ์ คัดเลือก สปช. แต่ละด้านไปแล้ว และในวันที่ 15 กันยายน 2557 ได้มีการประชุมนัดที่สอง เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ถูกเสนอชื่อเข้าสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คาดว่าจะมีการประชุม 2-3 ครั้ง เพื่อจะคัดเลือกให้เหลือด้านละ 50 รายชื่อ ก่อนที่จะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย การสรรหา สปช. ประจำจังหวัด ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่รอการประชุมเพื่อคัดเลือกรายชื่อที่จะเสนอต่อ คสช. จังหวัดละ 5 คน
จากนั้น คสช. ก็จะคัดเลือกที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา ด้านต่างๆ ทั้ง 11 ด้าน 550 คน และจากจังหวัด จังหวัดละ 5 คน 385 คน โดยจะคัดสรรให้ได้ผู้แทน ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ จากทุกภาคส่วน และทุกภาคของประเทศไทย จนเหลือ 250 คน ซึ่งประกอบไปด้วยด้านต่างๆ 173 คน จากจังหวัด 77 คน จากนั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้ง 11 เรื่องต่อไป โดยจะต้องครอบคลุมในทุกเรื่อง เราจะต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศ สร้างประเทศให้มั่นคงต่อไป
สำหรับสถานการณ์จากภาวะฝนตกในหลายพื้นที่ ในห้วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 29 จังหวัด รวม 77 อำเภอ 204 ตำบล 826 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 2 หมื่นครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว 25 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด 10 อำเภอ 45 ตำบล 241 หมู่บ้าน อันได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
สำหรับสภาพอากาศในห้วงนี้ยังคงน่าเป็นห่วง ยังคงต้องระมัดระวังกันต่อไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ขอเรียนว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห่วงใย ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลทางด้านอากาศด้วย เพื่อจะได้มีการระมัดระวังในทุกภาคส่วน รวมทั้งได้สั่งการเน้นส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการแจ้งเตือนไปแล้ว ให้แจ้งเตือนให้ทันเวลา เพื่อให้เกิดการป้องกันก่อนที่จะแก้ไขในภายหลังให้ประชาชนได้รับทราบ และปลอดภัย หน่วยงานของรัฐจะต้องสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ในช่วงวันที่ 15-18 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งเตือน 18 จังหวัด ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ก็ขอให้แจ้งเตือน มีการเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรือประมง เรือขนาดเล็ก เรือท่องเที่ยงต่างๆ ต้องระมัดระวังอย่าให้มีการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำโดยเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ผมได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ซึ่งได้นำส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และอธิบดีกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงไปตรวจเยี่ยมและพบปัญหาต่างๆ
ซึ่งได้รับการเสนอแนะจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชนในพื้นที่ ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำมา 4 ข้อ ประกอบไปด้วย การเพิ่มแก้มลิงและพัฒนาพื้นที่แก้มลิง ทบทวนเกณฑ์การผันน้ำในลุ่มน้ำยมและน่าน ระบบรายงานสถานการณ์ฝนในทุกจังหวัด การขยายความจุลำน้ำ โดยการขุดลอก ซึ่งในสิ้นเดือนนี้จะมีการนำแผนการบริหารจัดการน้ำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 ที่เหลือจากรัฐบาลที่แล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ มาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำยม และอื่น ๆ
ซึ่งถือว่าเป็นความเร่งด่วนมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ
1. เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำสายหลักลงสู่แก้มลิงให้ได้โดยเร็ว
2. ขุดลอกแม่น้ำเพื่อจะช่วยให้ระบายน้ำได้เร็วขึ้น และกักเก็บน้ำไว้ได้ในท้องน้ำที่มีความลึกและได้มีการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย จะมีการขุดท่อเจาะช่องระบายน้ำบริเวณถนนในหลายจุด ซึ่งเป็นคันกั้นน้ำอยู่หลายๆ จุดในเวลานี้
3. กรณีของการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมหรือลุ่มน้ำอื่นๆ นั้น ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จะต้องมีการพิจารณาพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากน้อยเพียงใด และมีประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ประชาชนพอใจหรือไม่ด้วย อันนี้คงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง อย่าเพิ่งไปพูดหรือไปคิดอะไรกันในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาในการแก้ปัญหาทั้งระบบต่อไป
กรณีเกิดเหตุการณ์น่าสลดกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และได้รับอันตรายจนกระทั่งเสียชีวิตที่เกาะเต่านั้น เรื่องนี้ผมถือว่าสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และชื่อเสียงของประเทศชาติเป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้เร่งติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว
ขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าผู้กระทำเป็นใคร แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความคืบหน้ามาโดยตลอด ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลความปลอดภัยตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ร่วมกับประชาชน อาสาสมัครต้องช่วยกันและดูแลเรื่องความปลอดภัยให้มากกว่านี้ เพราะว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศและในท้องถิ่นด้วย ความคืบหน้าทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
การส่งเสริมการลงทุนและการตลาด การดำเนินการด้านเศรษฐกิจ นั้น ได้แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยทันที ระยะต่อไปที่ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ค้างคาอยู่เป็นจำนวนมาก และระยะยาวที่ต้องวางรากฐานเพื่อการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเข้มแข็ง
ในขณะนี้ได้กระตุ้นการลงทุน ด้วยการเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพที่นักลงทุนยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ในช่วง 8 เดือนของปี 2557 ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2557 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 886 โครงการ เงินลงทุนรวม 416,500 ล้านบาท
มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม พบว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 นั้น เป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในไทยจำนวน 458 โครงการ หรือร้อยละ 52 ของจำนวนคำขอทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนรายใหม่เริ่มมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
ด้านการปรับปรุงการให้บริการของรัฐแก่ประชาชน จากนโยบายของ คสช. และรัฐบาลในปัจจุบัน ในด้านการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการของประชาชน ส่วนราชการต่างๆ ในลักษณะ One stop service มีคำแนะนำ ให้ความรู้ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยมีทั้งศูนย์ดำรงธรรม จัดตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ ส่วนราชการต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในหลายจังหวัด หลายอำเภอ ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ขอบคุณมากๆ
อย่างไรก็ตาม การให้การบริการประชาชนนั้น จะต้องพัฒนาต่อไป ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจัดทำโครงการ “ฝึกอบรมเพิ่มทักษะเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล การร้องทุกข์ผ่านระบบสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่ Call Center สายด่วน 1567 ในการให้บริการประชาชนของศูนย์ดำรงธรรม” ณ ศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 200 คน ก็คาดหวังว่าศูนย์ดำรงธรรมจะสามารถช่วยเหลือ และบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยความพึงพอใจของประชาชนนะครับ
ด้านการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ตามที่ คสช. ได้จัดระเบียบในระยะแรกไว้แล้วนั้น ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรุปยอดรวมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันรวมจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,088,306 คน (แรงงานเป็นต่างด้าว 1,024,686 คน ผู้ติดตาม 63,620 คน) จำนวนนายจ้าง 206,678 ราย สำหรับจังหวัดที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 232,119 คน ชลบุรี 76,330 คน และสมุทรสาคร 75,659 คน สำหรับประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง 451,564 คน เกษตรและปศุสัตว์ 209,024 คน และการให้บริการต่างๆ 127,631 คน
ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานธุรกรรมทางด้านการเงิน (AMFICs= AMLO FINANCIAL INFORMATION CORPERATION SYSTEM) เพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอให้ภาคธุรกิจธนาคาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมธนาคารไทยกรุณาให้ความร่วมมือด้วยนะครับ ในการจัดทำหรือจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม หากได้รับการร้องขอตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับการทุจริต
โดยกระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรการทางสากลให้เป็นมาตรฐาน การออกร่างกฎหมายว่าด้วยการพิสูจน์พยานหลักฐานทางการเงินและทางบัญชี ให้เกิดความรวดเร็วต่อการสืบสวน ค้นหา ผู้กระทำความผิดของหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในคดีที่มีความซับซ้อน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ยาเสพติดและการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของ คสช.และรัฐบาลนะครับ
สำหรับการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ในระยะต่อไปนั้น มีความสำคัญมากนะครับกับประเทศของเราทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูป การปรองดองสมานฉันท์ ตามที่ผมได้เคยกล่าวไปแล้วหลายครั้งๆ สิ่งที่เราคาดหวังไว้สำคัญๆ ได้แก่ การลดความขัดแย้งอย่างยั่งยืน การสร้างความรักใคร่ สามัคคีของคนในชาติ การขจัดการทุจริตคอร์รัปชันในทุกมิติ การปฏิรูปให้เกิดผลยั่งยืนในทุกด้าน การทำตามความคาดหวังของประชาชนทุกเรื่องให้ได้มากที่สุด
การปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ การปลูกฝัง และสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การยกระดับรายได้ของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเพิ่มความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก ด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง ร่วมมือกันในทุกมิติ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง รัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน โดยมีข้าราชการเป็นผู้ให้การสนับสนุน ผู้ขับเคลื่อนเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องให้การบริการอย่างเต็มสติกำลัง
การขับเคลื่อนประเทศชาติในทุกมิตินั้น ทั้ง 3 เสาหลัก จะต้องมีความเข้มแข็ง ทัดเทียม นานาอารยประเทศ เรามีทั้งวิกฤติและโอกาส เรามีทั้งเป็นหุ้นส่วนและก็เป็นผู้แข่งขันทางการค้าด้วย ต้องเร่งรัดในเรื่องนี้ การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม
สำหรับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินนั้น มีปัญหามากมายรวมทั้งการบุกรุกเขตป่าไม้ อุทยาน ราชพัสดุ จะต้องมีการบูรณาการทางกฎหมาย กฎ กติกา ปรับให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรม แก้ปัญหาประชาชนไม่มีที่ดินทำกินได้โดยเร็ว
เรื่องการใช้สื่อต่างๆ เรื่องนี้สำคัญนะครับ พบว่าสื่อมวลชนบางฉบับ หรือบางสำนัก ยังมีปรับปรุงน้อยนะครับ ยังคงมีการเขียนให้ร้ายกันในบางคอลัมน์ ก็ขอย้อนกลับไปดูที่ผ่านมานั้น ว่าอะไรที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วารสาร โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โซเชียลมีเดีย วิทยุชุมชน บางช่อง บางคน บางท่านก็อ้างว่าเพื่อ ด้วยความรักชาติ ด้วยความเป็นธรรม เพื่อประชาธิปไตย หรืออะไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก มีความขัดแย้งเกิดขึ้นปฏิรูปไม่ได้ ท่านก็ต้องร่วมกับเราในการรับผิดชอบด้วยนะครับ เพราะว่า หากเป็นสาเหตุในความขัดแย้งต่อไปด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ต้องขอร้องกันนะครับ กรุณาอย่าให้เราต้องบังคับใช้กฎหมายกันมากนักเลย จะมีความเดือดร้อน ไปทั้งพนักงานของสำนักพิมพ์ สถานีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ต่างๆ ก็ที่ผ่านมาก็เดือดร้อนกันหมดในกรณีที่ท่านทำผิดกติกาที่ตกลงกันไว้กับหน่วยงานที่ควบคุมอยู่ในปัจจุบัน
ขอเรียนว่าการที่สื่อต่างๆ บางสื่อนั้น มีการกล่าวให้ร้ายนี้ จะบิดเบือนข้อเท็จจริงบางอย่างก็เป็นเรื่องเล็กน้อย บางอย่างก็ขยายความไปโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ บางอย่างยังไม่มีการดำเนินคดีหรือตัดสินให้ถูกต่อกระบวนการยุติธรรม หากไม่ได้กลั่นกรองแล้วออกไป ทำให้คนเข้าใจผิด ทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างหรือกล่าวหานั้นเสียหาย ยังไม่จบขั้นตอนก็ขอให้ใจเย็นๆ รอเวลา รอกระบวนการยุติธรรมเขาทำงานให้เรียบร้อยก่อน พวกเรานั้น รัฐบาล ก็ยังไม่ได้หวั่นไหวอะไร เพียงแต่บางครั้งก็รำคาญใจเหมือนกัน เพราะทำให้เราคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนได้ ก็ติดๆ ขัดๆ ไปทั้งหมด พอจะเริ่มทำ เริ่มคิดก็ติดแล้ว ก็ฟังก่อนว่าเขาไปถึงไหนอย่างไร เขาจะแก้ไขปัญหาอย่างไรและค่อยไปดูว่าในขบวนการขั้นตอนเหล่านั้น ถูกต้องไหม พอใจกันไหม ถ้าเริ่มก็ติดหมดไปไม่ได้ก็จะอยู่เหมือนเก่าเหมือนเดิม ปัญหาเราก็ไม่ได้แก้ก็ฝากดูแลกันด้วย ช่วยกันดูแลด้วยว่าใครบ้างที่ยังมีพฤติกรรม ซึ่งไม่ร่วมกันสร้างบ้านเมือง ไม่ร่วมกันปฏิรูปปรองดอง
ในขณะนี้ ผลสำรวจดุสิตโพลหรือโพลต่างๆ ก็ออกมาแล้วว่าประชาชนนั้น ไม่อยากให้มีความขัดแย้งอีกต่อไปและพอใจกับการปรองดองสมานฉันท์ การรณรงค์ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและพร้อมร่วมที่จะสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเหมาะสมกับประเทศไทยของเรา บางคนนั้นบอกว่าทหารเดี๋ยวนี้ประชาสัมพันธ์เก่ง ผมเรียนว่า ทหารนี้ตามหลักนิยมทางทหารต้องทำก่อนแล้วค่อยพูด ก็ดีกว่าบางคนพูดแล้วไม่ทำ หลายท่านก็ชอบพูดหรือกล่าวให้ร้ายในหลายประเด็นด้วยกัน
คำว่าประชานิยมนั้น ไม่มีปัญหาหรอกนะครับ ถ้าหากว่าไม่สร้างปัญหาในอนาคตผมไม่อาจไปกล่าวว่าดีหรือไม่ดี หากทำแล้วรัฐบาลต้องมาหาเงินใช้หนี้ มีเงินกู้เพิ่มหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็นหรือมีผู้ที่ได้ประโยชน์มากกว่าประชาชนที่แท้จริง จากการทุจริต ไม่โปร่งใสในขั้นตอนต่างๆ ประชาชนได้แต่เพียงส่วนน้อยต้องไป ด้วยว่าประชาชนได้จริงๆ เท่าไร ได้ทุนได้ไหม หรือข้าราชการที่ทุจริตได้ไหม หรือใครจะได้ต่อไปก็แล้วแต่ ไปดูว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วนั้น เป็นปัญหาต่อไปในระยะยาวหรือไม่ เพราะว่าเราถูกเป็นเครื่องมือหรือเปล่า
เรื่องปัจจัย 4 ที่เป็นของทฤษฎีในการที่จะทำให้ประชาชนนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จะต้องไม่เป็นประชานิยมในลักษณะที่ว่า เมื่อซื้อไปแล้วไม่มีแรงผ่อนต่อ ก็เกิดปัญหาหนี้สินรุงรัง วันนี้ก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้อีกเหมือนกัน หนี้ประชาชน หนี้ครัวเรือนต่างๆ มากมาย เราไม่ต้องการให้มีการสร้าง Demand เทียมในการผลิต คือความต้องการที่เกินจากข้อเท็จจริงไป บางคนกล่าวว่า ผมคิดแบบนักการเมือง ผมเรียนว่า ผมคิดแบบทหาร ทหารทำอะไรต้องมีผลสัมฤทธิ์ เพราะเรามีเวลา มีงบประมาณจำกัด เพราะฉะนั้นอีกอย่างหนึ่งที่มาเติมในขณะนี้ ที่ผมเติมมาก็คือคิดแบบประชาชน ต้องไม่มีผลประโยชน์ ไม่ต้องนึกถึงพรรค ไม่ต้องหาเงินเข้าพรรคไปบริหาร อะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องรักษาฐานเสียง
พวกเรามาขับเคลื่อนทุกองคาพยพให้ทำงาน ด้วยสติปัญญาของผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ทุกคน หลายๆ คนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ร่วมกับข้าราชการทุกฝ่าย และฟังเสียงประชาชนด้วย เราจะไม่ใช้เงินภาษีของประชาชนหรืองบประมาณแผ่นดิน ให้เกิดเป็นปัญหาระยะยาว ไม่สร้างหนี้สาธารณะให้มากนัก เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้องใช้หนี้ไปเรื่อยๆ จนในอนาคตนั้น สรุปแล้วงบประมาณประจำปีจะไม่ได้นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้นำมาดูแลพี่น้องประชาชนให้ทั่วถึง
รัฐบาลนี้จะจัดลำดับงานตามลำดับความเร่งด่วน อะไรทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ และจะส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไปอย่างยั่งยืน ขอให้นักการเมืองในอนาคตเตรียมการให้ดี อะไรที่เราทำไม่เสร็จในระยะสั้น ท่านก็ต้องทำต่อ ประชาชนต้องช่วยกันตัดสิน ดูแล เฝ้าระวัง ช่วยกันประเมินผลสัมฤทธิ์ที่จะตามมาในภายหลังที่สำคัญ ถ้าหากใครเตรียมการไม่ดี ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง หากได้รับเลือกเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ก็จะเป็นปัญหาอีกต่อไปในอนาคต ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม
อีกเรื่อง บางครั้งที่ผมพูดหรือกล่าวอะไรไป อาจใช้คำพูดไม่สุภาพบ้างหรือแรงไปบ้าง เพียงต้องการให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของผม ของทุกคนในชาติ แล้วมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่สำคัญทุก ๆ เรื่อง ผมก็พยายามปรับปรุงตัวเองไปเรื่อยๆ ผมเป็นทหารมาเกือบทั้งชีวิต 38 ปี ในกองทัพบก ก็อยู่กับลูกน้องส่วนใหญ่ที่เป็นทหาร เป็นผู้ชาย ต้องขอโทษ ถ้าพูดไม่สุภาพบ้าง อะไรบ้าง ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ
เรื่องที่ผมกล่าวถึงนักท่องเที่ยวที่แต่งกายล่อแหลม หรือใส่บิกินี ผมไม่ได้ไปโทษท่าน ไม่ได้ไปให้ร้ายท่าน ไม่ได้เจตนาอย่างอื่น เพียงแต่ต้องการจะเตือนเท่านั้นเองว่า บางเวลา บางสถานที่ อาจจะมีความจำเป็นเพราะว่ายังไม่ปลอดภัยมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาวิกาล ผมก็เสียใจที่คำพูดของผมอาจจะทำให้หลายคนไม่สบายใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น ผมเสียใจเป็นที่สุดกับครอบครัวชาวต่างชาติที่เสียชีวิต ทุกคนที่เสียชีวิต ผมเสียใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนต่างชาติ อะไรที่พูดแรงไป ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนา ผมเป็นสุภาพบุรุษ ฉะนั้นเมื่อผมพูดผิด ทำอะไรผิด ต้องรับผิดชอบ ก็ขอโทษท่าน ต้องการให้เป็นแบบอย่างกับทุกๆ คนด้วย
เรื่องคุณกริชสุดา ขอร้องอีกที อย่าพูดอะไรที่เป็นการให้ร้ายเจ้าหน้าที่เลย เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริงทั้งนั้น ไม่ใช่ส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมด ฉะนั้น คุณเป็นสุภาพสตรี ผมต้องขอโทษบางครั้งพูดแรงไป ก็มีอารมณ์เหมือนกัน เพราะว่าท่านให้ร้ายกองทัพให้ร้ายอะไรต่างๆ มาโดยตลอด โดยที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้องขอโทษด้วย ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องสุภาพเรียบร้อย
สำหรับเหตุการณ์ทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการตีกันของเด็กนักเรียน นักศึกษา คิดว่าต้องไม่มีอีกแล้ว ทุกคนต้องช่วยกันดูแล ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคมต้องช่วยกัน สร้างการเรียนรู้ สร้างว่า รับทราบว่าผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ตรงไหน การท่องเที่ยวปีหนึ่งเป็นแสนล้านบาท ถ้าเกิดขึ้นเช่นนี้บ่อยๆ อีกหน่อยใครก็ไม่มาเที่ยวประเทศไทย ไม่ปลอดภัย
เขาจะมาเที่ยวชายหาด เขาจะมาพักผ่อน ประเทศไทยก็ได้ขับเคลื่อนในด้านท่องเที่ยว การบริการ อาหาร มากมาย ที่จะทำให้ประเทศชาติเราดีขึ้นในอนาคต ถ้าเรายังคงต้องมีเรื่องแบบนี้ ก็ทำให้เราเสียงบประมาณ เจ้าหน้าที่ก็มีงานเพิ่ม เสียอนาคตเด็กเยาวชนด้วย เรื่องตีกัน ทำให้เสียโอกาส เสียรายได้การท่องเที่ยว เสียชื่อเสียงในสังคมโลก
วันนี้เราใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ทุกคนทราบดี แต่เหตุการณ์เหล่านี้ทำไมยังเกิดขึ้นอีก สิ่งนี้น่าสงสัย น่าแปลกใจ ไปหาทางคิดดูว่า ถ้ากฎหมายแรงอย่างนี้ แล้วยังเกิดอย่างนี้ แสดงว่าคนเหล่านี้ไม่เกรงกลัวกฎหมาย แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อใช้กฎหมายปกติอย่างเดียว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า ไปหามาตรการมาว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ผมไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก ทุกคนในชาติก็ไม่ต้องการให้เกิด สงสารคนตาย คนเสียชีวิต คนบาดเจ็บ เหล่านี้ไม่ได้ ทุกคนในชาติต้องเข้มงวด ให้ความสำคัญอย่างปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนกับวัวหายแล้วล้อมคอกทุกครั้ง เราต้องทำตั้งแต่ เช่น ป้องกัน ป้องปราม มากกว่าแก้ไข เพราะหมายถึงชีวิตของคน
เรื่องที่ผมต้องการพูดก็คงทยอยพูดไปเรื่อยๆ วันนี้ก็ขอโทษ ขอโทษจริงๆ ที่พูดจาอาจจะเร็วไปบ้าง หรือพูดแรงไปบ้าง ก็ขอโทษไปแล้ว ขอเพียงแต่ขอความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย ผมก็ขอโทษท่านให้เกียรติท่าน ท่านก็ให้เกียรติผมบ้าง การที่สื่อช่วยระมัดระวังเรื่องการนำรูปผมไปดัดแปลง บางรูปดูไม่ได้เลย ไม่ใช่ดัดแปลงผมเสียหาย นำรูปประชาชนมาประกอบกับผม โดยแกล้งนำรูปจริงๆ มา แล้วใส่เข้าไป บิดเบือน ทำให้เสียหายไปถึงสถาบันเบื้องสูงด้วย อะไรเหล่านี้ ผมว่าไม่สมควร ทำทำไมไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
เรื่องภาษี เรื่องอะไรต่างๆ ยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น กำลังพิจารณากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมรดก ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินอะไรต่างๆ ก็ไปว่ามา เหมาะสมไม่เหมาะสม เป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติ ผมก็เพียงคิดริเริ่ม ศึกษา จับข้อมูลที่ส่วนราชการเขาทำขึ้นมา ผมก็ให้แนวทางไป ว่าจะเกิดอย่างไร ทั้งหมดต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมีรายได้น้อย อย่าเพิ่งไปกลัว แม้ว่าจะต้อง เรื่องไปขายที่ดินมาเสียภาษี ไม่ใช่แบบนั้นเลย แสดงว่ามีคนที่ปลุกปั่นในเรื่องเหล่านี้อยู่ ไม่เข้าใจ ก็รอฟังเขาก่อน เมื่อถึงเวลานั้นค่อยว่ากัน จะแก้ไขก็ว่ากัน พอเริ่มพูดก็มีปัญหามาโดยตลอด ไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ในเมื่อเราต้องการแก้ไขเรื่องคอร์รัปชันทุจริตในทุกมิติแล้ว ก็ต้องช่วยผมเฝ้าระวังตรงโน้นดีกว่า เดี๋ยวจะพูดอีกก็ไม่ต้องทำ อย่างนี้จะไปอย่างไร
ประเทศชาติไม่มีอนาคต วันนี้เราวางยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้ว ว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไรในห้วง 5 ปี 10 ปี 15 ปี ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ละ 5 ปี จะทำอย่างไรถึงจะต่อเนื่องได้ 3 แผนได้ไหม ในเรื่องของการลงทุน สาธารณูปโภค พื้นฐานในการพัฒนา หรือปฏิรูปในทุกมิติ ต้องมีความต่อเนื่อง วันนี้เราทำได้แต่เรื่องเร่งด่วนแล้วก็วางรากฐานของประเทศไปให้ได้ ก็เป็นยุท