"อภิสิทธิ์"ชี้ยุบสภาไม่ใช่ทางออกที่ดีสุด
มาร์คยันยุบสภาไม่ใช่ทางออกที่ดีสุด ประกาศพร้อมเป็นนายกฯมั่นใจทำสังคมต่างจากทักษิณ แน่นอน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดเหมือนมีนัยว่าจะยุบสภาว่า ตนเคยได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารทำงานด้วยกันไม่ได้ หรือในทำนองถึงขั้นอยู่ด้วยกันไม่ได้จึงจะยุบสภา และนายกฯยังเคยพูดเอาไว้ว่า ไม่เชื่อเรื่องทฤษฎีที่บอกว่าการยุบสภาเป็นกลไกที่ฝ่ายบริหารใช้ได้เพื่อความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อพิสูจน์ในคำพูดนายกฯ อย่างไรก็ตามเวลานี้ทุกคนมีสิทธิจะพูด มีสิทธิจะวิเคราะห์ และเมื่อสักครู่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อยังบอกว่ายังไม่ถึงชาติหน้าเลย ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการยุบสภาไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหากับนายกฯมาตลอดว่าคำพูดเชื่อถือได้หรือไม่ มีหลักจริง ๆ หรือไม่ หรือที่สุดก็เป็นเรื่องสถานการณ์ในแต่ละวัน ถ้ายิ่งตอกย้ำตรงนี้ จะยิ่งทำให้คนที่เห็นว่านายกฯไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว มีความรู้สึกรุนแรงขึ้นอีก และสิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเบื่อ หรือชอบกันหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้คืออะไรดีที่สุดสำหรับอนาคตของประเทศ และดีที่สุดขณะนี้คือนายกฯต้องมาแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำของประเทศก่อน ด้วยการตอบคำถามตรงไปตรงมาถึงข้อสงสัยต่าง ๆ ที่มีขึ้น จากนั้นกลไกของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจะมีคำตอบที่ดีที่สุดในตัวของมันเอง แต่วันนี้ถ้าเลือกใช้วิธีคลุมเครือ เฉไฉ พูดข้างเดียว เอาเปรียบทางการเมือง ก็ไม่ได้ข้อยุติ แม้แต่จะลาออก หรือยุบสภา หรืออะไรก็ตาม ถ้ายังทิ้งความคลุมเครือในลักษณะนี้ไว้ มันก็ไม่ใช่คำตอบ และประเทศจะยังมีปัญหาที่ค้างอยู่ นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขอให้นายกฯลาออกแล้วปฏิรูปการเมืองโดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนค่อยคืนอำนาจให้ประชาชนนั้น ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่าหากเป็นข้อเรียกร้องของคนที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองก็คือ เอาคนที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมืองออกไปก่อน แต่คำถามก็คือ หากยุบสภาเลยก็ยังไม่มีการปฏิรูปการเมือง และยังไม่แน่ว่าจะได้คนที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะปฏิรูปการเมืองหรือไม่ ส่วนกรณีที่ลาออก ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับประเด็นเรื่องความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี ไม่ควรนำมาปนกัน แต่จะผูกพันกันตรงที่ ที่มาของข้อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เพราะผู้นำในปัจจุบันไปบิดเบือนทำลายล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจนทำให้มีเสียงเรียกร้องที่จะต้องแก้ไข ดังนั้นผู้นำปัจจุบันจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้นำในการปฏิรูปการเมือง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่รู้สึกห่วงว่านายกฯจะอ้างความขัดแย้งในการอภิปรายทั่วไปที่ฝ่ายค้านต้องการพูดเรื่องการซื้อขายหุ้นมาเป็นเหตุผลในการยุบสภา แต่เป็นห่วงเรื่องการปิดกั้นการเอาความจริงออกมากับการใช้เวทีเพื่อพูดในสิ่งที่เป็นเท็จ และชิงความได้เปรียบทางการเมือง อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ซึ่งจะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือฝ่ายค้าน รัฐบาล และวุฒิสภาในส่วนของฝ่ายค้านจะทำหนังสือถึงนายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภาขอให้มีบทบาทในการทำให้กลไกของรัฐสภาเป็นที่พึ่งของประชาชน หากไม่ตอบสนองก็จะตอกย้ำความรู้สึกว่าฝ่ายนิติบัญญัติห่างเหินจากประชาชน เพราะต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่สำคัญกว่าการเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย การเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย หรือทายาทของนายกฯ
เมื่อถามถึงความพร้อมของนายอภิสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นนายกฯนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปไกลถึงขั้นนั้น เพราะนายกฯยังไม่ได้ลาออก และยังไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น รวมทั้งเงื่อนไขของคนที่เข้ามาใหม่จะมีการผูกมัดชัดเจนแค่ไหน ส่วนที่คนหวั่นเกรงว่าหากนายกฯไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณแล้วจะมีใครสามารถดำรงตำแหน่งตรงนี้ได้นั้น สังคมไทยไม่สิ้นคนดีและมีทางเลือกอีกมาก ซึ่งในส่วนของตนไม่มีปัญหา เพราะตนและพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อม และอยากชี้ให้เห็นว่าสังคมเราถ้าได้ข้อมูลแล้วเรียนรู้เร็วเหมือน อย่างไรก็ตามต้องดูกระบวนการของการได้นายกฯคนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าผมเป็นนายกฯ จะเป็นนายกฯที่แตกต่างจากพ.ต.ท.ทักษิณ คือจุดยืนและการกระทำของผมตลอดชีวิตการเมืองกับจุดยืนและการกระทำตลอดชีวิตการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ หาจุดร่วมกันได้น้อยมาก เพราะผมเชื่อว่าการบริหารประเทศในยุคสมัยใหม่ไม่ได้เป็นลักษณะการใช้อำนาจนิยม ไม่ได้ใช้ลักษณะของการที่เชื่อว่าเก่งอยู่คนเดียว ตรงกันข้ามเห็นว่า ความสำเร็จของประเทศและระบบเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าที่ไหน คือการนำบนความยอมรับของความคิดที่หลากหลาย และพลังของทุกฝ่าย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และที่สำคัญก็คือ การแข่งขันในโลกปัจจุบัน หลักธรรมาภิบาลมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นการให้ความมั่นใจว่าคนที่มีอำนาจรัฐ และเป็นผู้นำ ยึดมั่นธรรมาภิบาล ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจปัจจุบันนายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนนโยบายของพรรคมีความแตกต่างกับรัฐบาลมาก ทั้งเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เรื่องการทำเขตการค้าเสรี และถ้าพูดถึงภาพรวมก็อยากถามว่าประเทศไทยได้พิสูจน์หรือยังว่าความยากจนแก้ไขด้วยวิธีการเอาเงินไปให้ยืมหรือเอาไปให้กู้ไม่ได้ และหากได้ตนเป็นนายกฯจะมีสังคมที่แตกต่างจากปัจจุบันที่พ.ต.ท.ทักษิณบริหาร คือจะเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะมีการกระจาย ไม่เห็นแก่เรื่องของความโลภของวัตถุเป็นใหญ่ เป็นสังคมที่มีความสันติสุขที่ผู้คนที่มีความแตกต่างทางความคิดและความแตกต่างด้านอื่น ๆ อยู่ร่วมกันได้ และยึดถือคุณธรรมและจริยธรรม หากถามความเหมือนระหว่างตนกับพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีเพียงข้อเดียว คือ เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วจะต้องบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จให้ได้ อย่างไรก็ตามขออย่าเพิ่งพูดอะไรล่วงหน้า เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ และเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด แต่ตนขอเพียงอย่างเดียวคือ ขอเรียกร้องการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม อย่าเอาเปรียบกัน จะด้วยอำนาจรัฐ การใช้อำนาจเข้าไปครอบงำสื่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้จะแตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีคนกลุ่มใหญ่พอสมควรที่ได้แสดงการต่อต้านการยุบสภา เพราะเห็นว่าระบบยังไม่เป็นธรรม ดังนั้นหากมีการเลือกตั้ง เชื่อว่าคนเหล่านี้จะเอาจริงเอาจังอย่างมากหากมีใครคิดทุจริต หรือบิดเบือนมากไปกว่านี้ และทำให้ปัญหาการเมืองยืดเยื้อ
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคเห็นว่าในขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในสภาวะที่จะดำรงตำแหน่งหรือบริหารราชการแผ่นดินในฐานะของนายกฯเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของประเทศชาติได้ต่อไป เพราะเวลานี้พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้เวลาในการบริหารราชการแผ่นดินไปในการแก้ตัวเรื่องราวที่เกี่ยวกับส่วนตัวและครอบครัวของนายกฯเป็นหลัก มากกว่าใช้เวลาในการแก้ปัญหาของประเทศ เช่น เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมานายกฯได้ใช้เวลาแก้ตัวในการประชุมข้าราชการระดับปลัดกระทรวงที่กทม. รวมทั้งนายกฯอธิบายรายละเอียดชัดเจนว่าแกนนำในการชุมนุมมีปัญหาอะไรบ้าง ไล่มาตั้งแต่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งนสพ.ผู้จัดการ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นอกจากนี้ยังระบุว่าถูกรุมจากสื่อมวลชนด้วยเรื่องราวต่างๆ
ส่วนกรณีที่พรรคไทยรักไทยจ่ายเงินให้ส.ส.ทำกิจกรรมในพื้นที่เขตละ 3 แสนบาทนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ารัฐบาลมีความวิตกกังวลหวั่นไหวว่า สถานการณ์ทางการเมืองอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้วิธีดึงส.ส.จำนวนหนึ่งให้อยู่กับรัฐบาลต่อไป จึงให้ส.ส.นำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายรวมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคไทยรักไทยก็คงจะเน้นในเรื่องอำนาจเงินและอำนาจรัฐเพื่อความได้เปรียบ และถ้ายังใช้เงินอย่างนี้ต่อไปก็สามารถทำให้รู้ผลการเลือกตั้งล่วงหน้า และทำให้ผลการเลือกตั้งเกิดการเบี่ยงเบนหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจต่อส.ส.ของพรรคหรือไม่ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคไม่หวั่นไหวต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วถือว่ายากลำบากพอสมควร แต่ส.ส.ของพรรคก็สามารถฟันฝ่ามาได้ ทั้งนี้พรรคได้ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องปกติ และคงไม่มีการให้เงินเป็นพิเศษ แต่ถือเป็นภาระหน้าที่ของส.ส.ต้องทำงานหนักร่วมกับประชาชน แต่หากสถานการณ์เข้มข้นและเขม็งเกลียวมากขึ้นส.ส.ก็ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม ซึ่งจะไปหนักใจหรือเบาใจไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบในฐานะนักการเมืองที่ต้องพร้อมตลอดเวลา
นายองอาจ ยังกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่าการชุมนุมในวันที่ 26 ก.พ.นี้จะมีพรรคร่วมฝ่ายค้านไปผสมโรงด้วยนั้นว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอย้ำว่าคงไม่ได้ไปผสมโรงในการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนซึ่งเกิดจากเจตนารมย์ที่บริสุทธิ์ แต่พรรคคงไม่สามารถห้ามหรือกำหนดให้สมาชิกพรรคไปร่วมได้ เพราะเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม ทั้งนี้พรรคขอฝากไปยังรัฐบาลว่าอย่าพยายามโยนบาปให้กับคนอื่นว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุม เพราะเป็นการชุมนุมอย่างเปิดเผยรวมทั้งมีตัวบุคคลที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ส่วนที่นายเอกภาพ พลซื่อ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีระบุว่าการชุมนุมดังกล่าวจะมีการว่าจ้างนักศึกษาวันละ 300 บาทและแกนนำที่ไปจ้างนักศึกษาจะได้ค่าจ้าง 1,600 บาทต่อวันนั้น ถือว่าเป็นการดูถูกภูมิปัญญานักศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งรัฐบาลคิดว่าการชุมนุมดังกล่าวจะมีลักษณะเดียวกับพฤติกรรมของรัฐบาลและนายกฯที่ชอบเอาเงินไปฟาดหัวคนอื่น
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ทีมโฆษกของพรรคติดตามสถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 26 ก.พ.อย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าให้ส.ส.ของพรรคได้รับทราบเป็นระยะๆ แต่ไม่ใช่การตั้งวอร์รูมเพื่อให้ส.ส.ของพรรคที่มีอยู่ทั่วประเทศจะได้รับทราบความเคลื่อนไหวในวันดังกล่าว