"สาทรโมเดล" ถึง "นายกฯตู่" ต้นแบบแก้รถติดเมืองกรุง
โดยเฉพาะ "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงของประเทศไทย มีต่างชาติมาท่องเที่ยวไม่ขาดสาย แต่กลับมีชื่อติดโผเป็นเมืองที่รถติดที่สุดในโลก
ปัจจุบันถึงจะมีรถไฟฟ้า 3 สายทาง ทั้งบีทีเอส ใต้ดิน และแอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งเชื่อมการเดินทางให้เข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกขึ้น แต่ยังไม่ช่วยให้ปัญหาบรรเทาลงได้ เพราะคนยังไม่ยอมทิ้งรถยนต์มาใช้รถไฟฟ้า อาจเป็นเพราะข้อจำกัดและความไม่สะดวกหลาย ๆ อย่าง ทำให้คนยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม
ล่าสุดได้ฟังรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา "หัวหน้า คสช." เริ่มแตะเรื่องรถติดบ้างแล้ว
"...อย่าบ่นเลยรถติด รถมันเยอะคนมีสตางค์มากขึ้น ซื้อรถมากขึ้น รัฐต้องมาดูเรื่องการให้บริการมากขึ้น หารถเมล์ ขสมก.ใหม่มาวิ่ง ปรับเส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าให้ต่อเนื่อง มีที่จอดรถให้คนที่ไม่มีบ้านใกล้รถไฟฟ้า ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ จึงเป็นปัญหาอย่างนี้ ถ้าทั้งหมดยังไม่เกื้อกูลกันและกัน คนก็ยังใช้รถอยู่ แต่ถ้าการให้บริการของรัฐดีขึ้นคนก็ใช้รถน้อยลง รถก็ติดน้อยลง"
ฟังนโยบายของ "บิ๊กตู่" ดูเหมือนอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ทำให้หวนนึกถึง "สาทรโมเดล" ที่เป็นความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, กระทรวงคมนาคม, กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยโตโยต้าออกค่าใช้จ่ายศึกษาให้กับประเทศไทยฟรี ๆ วงเงิน 40 ล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้โตโยต้าเคยใช้โมเดลเดียวกันนี้แก้รถติดในกรุงโตเกียวสำเร็จมาแล้ว
ประกอบกับสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้คัดเลือกประเทศไทยเป็นเมืองต้นแบบแก้ปัญหาจราจรโดยเลือก "ถนนสาทร" เป็นโมเดลนำร่อง เพราะเป็นถนนที่ได้ขึ้นชื่อว่ารถติดมาก มีผลสำรวจออกมาแล้วว่ารถวิ่งด้วยความเร็วแค่ 7.25 กม./ชม.เท่านั้นในชั่วโมงเร่งด่วน
โปรเจ็กต์นี้มี "กระทรวงคมนาคม" เป็นผู้ทำโรดแมป 10 ปี ตอนนี้ระยะเร่งด่วนคือปรับพฤติกรรมการเดินทางบนถนนสาทรความยาว 3 กม. เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่กลางสิงหาคมที่ผ่านมา ตั้งเป้าในปี"58 สาทรต้องเป็นถนนที่ปราศจากรถติดและปลอดรถส่วนบุคคล
เริ่มจากสเต็ปแรก ขอความร่วมมือ "ผู้ปกครอง-นักเรียน"เข้าร่วมโครงการ School Bus หรือรถชัตเติลบัสวิ่งรับส่งนักเรียนจากจุดนัดพบตามห้างโมเดิร์นเทรด ซึ่งจัดไว้ให้ผู้ปกครองจอดรับส่งบุตรหลาน โดยมี "บริษัท มนตรี ทรานสปอร์ต จำกัด" เป็นผู้จัดหารถมาวิ่งบริการ
งานนี้มีผู้ปกครองกว่า 800 คนพร้อมใจมาใช้บริการ แม้ว่าค่ารถจะค่อนแพงราคาเที่ยวละ 100 บาท แต่ก็ยอมจ่ายเพื่อซื้อเวลา แถมบริการก็ทันสมัยหายห่วง ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะไม่ถึงโรงเรียน เพราะมีบริการรายงานผลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
สเต็ปที่ 2 ขอความร่วมมือ "คนทำงาน" ในออฟฟิศ ให้นำรถไปจอดตามห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการให้จอดฟรี และนั่งรถไฟฟ้ามาทำงานแทน สุดท้ายคือด้านกายภาพของถนน มีทั้งปาดเกาะกลาง ปรับรัศมีเลี้ยวใหม่ ใช้กฎหมายจราจรมาบังคับใช้อย่างจริงจัง และปรับจังหวะสัญญาณไฟจราจรให้สอดรับกับปริมาณรถ
ทั้งหมดนี้เตรียมเปิดตัวเป็นทางการ 16 กันยายนนี้ จากนั้นอีก 3 เดือนจะวัดผลตอบรับ อนาคตจะใช้เป็นโมเดลนำร่องขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
วันนี้ "สาทรโมเดล" กำลังจะเริ่มต้นนำร่องเป็นตัวอย่างแล้ว รอแค่ "นายกฯตู่" หยิบไปต่อยอดให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อคืนความสุขให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน