ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่ง ยกคำร้อง กกต. คดีใบเหลือง "หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร"
หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมายัง ศาลแพ่ง เพื่อฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ขอให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง พิจารณาจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่ หลัง กกต. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้ใบเหลืองแก่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์
จาก กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พระสุเทพ กล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 13 และ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ที่วงเวียนใหญ่และลานคนเมือง
โดยมีข้อความกล่าวโจมตี พลตำรวจเอกพงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครพรรคคู่แข่ง ทำนองว่าหากเลือก พลตำรวจเอกพงศพัศเป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศสู่ระบบสาธารณรัฐที่มี ประธานาธิบดีเพียงคนเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จส่งผลให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลง คะแนนเข้าใจผิดในตัว พลตำรวจเอกพงศพัศ อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545
ขณะที่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ ผู้คัดค้านคำร้องของ กกต. และนายสุเทพ พยานฝ่ายผู้คัดค้าน ได้ชี้แจงกับ อนุกรรมการ กกต. ว่า
การกล่าวปราศรัยทั้ง 2 แห่ง ไม่มีผลต่อคะแนนนิยมของพลตำรวจเอกพงศพัศ เนื่องจากมีผู้เข้าฟังเพียง 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุน หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ แต่ผลการเลือกตั้งดังกล่าวปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งมีคะแนนห่างจากพลตำรวจเอกพงศพัศ กว่า 178,900 คะแนน อีกทั้งไม่มีการเผยแพร่คำปราศรัยดังกล่าว และคำกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553
โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากการไต่สวนมีหลักฐานเชื่อได้ว่านายสุเทพ รับรู้ข้อมูลจริงขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
การที่นายสุเทพ นำข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวให้สังคมรับรู้ กรณีจึงไม่มีหลักฐานว่าการกระทำของนายสุเทพ หลอกลวง หรือใส่ร้าย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด พลตำรวจเอกพงศพัศ และนายสุเทพก็ไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545
และยังปรากฎรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีการชุมนุม ของกลุ่ม นปช.ระหว่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.
ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เมื่อ ปี 2553 ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน กทม. ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัย ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เส้นทางจราจร เมื่อพิจารณา ถึงคำปราศรัยทั้งหมดของนายสุเทพ ก็ได้อ้างอิงถึง คำปราศรัยของนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ที่เคย กล่าวถึงการชุมนุม ในพื้นที่ กทม.และนายสุเทพ ได้กล่าวถึงแนวคิดของกลุ่ม นปช. โดยที่ไม่ปรากฎว่าได้กล่าวถึงพลตำรวจเอกพงศพัศ ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าพลตำรวจเอกพงศพัศ เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนนี้จึงยังไม่พอฟังได้ว่า การกล่าวปราศรัยของนายสุเทพ เป็นการจูงใจหรือหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในตัวพลตำรวจเอกพงศพัศ ที่จะเป็นเหตุให้ประชาชน ผู้มีสิทธิลงคะแนนมาลงคะแนนเสียงให้กับ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ใหม่ ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ทั้งนี้เมื่อศาลยกคำร้อง ของ กกต. หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ก็ถือว่ายังดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป
ภายหลังฟังคำสั่งศาลนานกว่า 5 ชั่วโมง หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ เปิดเผยว่าขอขอบคุณประชาชน ทีมทนายความ และตอนนี้ก็อยากทำงานเต็มที่แล้ว หลังไม่ได้ทำงานมา 5 เดือน และเป็นห่วงเรื่องน้ำ และโรคระบาด มากที่สุดโดยพรุ่งนี้จะเข้าไปที่สำนักการระบายน้ำเป็นที่แรก จะดูแลก ทม.ให้น่าอยู่ต่อไป ส่วนเรื่องคดีรถเรือดับเพลิง อยู่ในเงื่อนไขระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ส่วนบรรยากาศในวันนี้มี หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ เดินทางมาพร้อมมารดา ภรรยา และมีพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารจาก กทม. เดินทางมาให้กำลังใจ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ มอบดอกกุหลาบ พร้อมร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดีกว่า 100 คน จนแน่นห้องพิจารณาคดี