คนจนมีสิทธิ์แล้วครับคสช.สั่ง 4 หน่วยงานหาที่ทำกินคนยากจน

คนจนมีสิทธิ์แล้วครับคสช.สั่ง 4 หน่วยงานหาที่ทำกินคนยากจน


คสช.สั่ง 4 หน่วยงานหาที่ทำกินคนยากจน ทส.เร่งสำรวจอพยพคนออกจากป่า ยึดมติ ครม. 30 มิ.ย.41

วันที่  2 ก.ย.นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษฏ์  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรฯได้ร่วมประชุมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในลักษณะที่ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ให้กับประชาชนที่ยากจนไร้ที่ดินทำกินตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ กำลังสำรวจพื้นที่ป่าทั้งหมดทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเสื่อมโทรม เพื่อดูว่ามีพื้นที่เท่าไรและมีประชาชนบุกรุกจำนวนเท่าไร เพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้กับเกษตรที่ยากจนต่อไปทั้งนี้แนวทางที่ได้ประชุมหารือ กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีพื้นที่ของรัฐในการควบคุมดูแลไปดำเนินการเบื้องต้น โดยให้ยุติการบุกรุกถือครองของราษฎรให้สำรวจจัดทำข้อมูลราษฎรที่ทำกินในพื้นที่ โดยระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเชื่อมข้อมูลกับกรมการปกครอง ให้จัดแยกกลุ่มราษฎรที่ทำกินว่ากลุ่มใดสามารถอยู่ทำกินได้กลุ่มใดไม่สามารถอยู่ทำกินได้ ที่สำคัญคือให้ตรวจสอบหาพื้นที่รองรับราษฎรที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ที่ทำกินอยู่พร้อมทั้งให้วางแนวทางในการจัดระบบการถือครองในพื้นที่ที่จะรองรับการเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ตามการให้สิทธิในการทำกินจะไม่ให้เป็นรายบุคคลแต่จะให้ในลักษณะสิทธิทำกินชุมชน ส่วนในรายละเอียดนั้นจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

 ขณะที่นายธีรยุทธ์ สมตน ผอ.สำนักจัดการที่ดินป่าไม้กรมป่าไม้ กล่าวว่า ที่ประชุมได้กรอบแนวทางการปฏิบัติงานโดยให้แต่ละหน่วยงานไปตั้งส่วนประสานงานในแต่ละกระทรวงโดยมีกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเจ้าภาพหลัก ในแต่ละหน่วยงานจะมาพูดคุยกันว่าจะมีรูปแบบการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรที่ไม่มีที่ทำกินได้อย่างไร โดยไม่ผิดกฎหมาย ในเบื้องต้นกรมป่าไม้ได้รวบรวมข้อมูลโดยใช้มติ ครม. 30 มิ.ย. 41 เป็นหลักเกณฑ์ โดยข้อมูลเบื้องต้นมีคนอยู่พื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ประมาณ 6 แสนราย คิดเป็นเนื้อที่ 6.4  ล้านไร่ ซึ่งการอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าจะมาพูดคุยกันในทางนโยบายว่า จะดำเนินการอย่างไรให้มีความเหมาะสมแต่คงไม่ใช่การให้เอกสารสิทธิ์เป็นรายบุคคล แต่อาจจะให้เป็นรายชุมชนหรือพื้นที่โดยชุมชนที่จะได้สิทธิทำกินจะต้องเป็นชุมชนในลุ่มน้ำชั้น 3 , 4 และ 5 เท่านั้น

“ส่วนพื้นที่ต้นน้ำ ชั้น 1 และ 2 จะไม่มีการให้สิทธิทำกิน เพราะต้องอนุรักษ์เป็นแหล่งต้นน้ำอาจจะมีการย้ายชุมชนเหล่านั้นออกมา และจ่ายค่าชดเชยหรือจัดสรรหาที่ดินใหม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกทีในทางนโยบาย  ทั้งนี้จะมีการพูดคุยกันอีกภายในสัปดาห์นี้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ส.ป.ก.และกรมอุทยานฯ โดยกรมป่าไม้จะเป็นหน่วยรวบรวมข้อมูลและจัดทำระบบข้อมูลกลางเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการวางแผนจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรที่ยากจน  ” นายธีรยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับแนวทางการจัดการที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในลักษณะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นที่ประชุมได้พิจารณาโดยยึดตาม มติ ครม. 30 มิ.ย.41 กำหนดให้มีเงื่อนไขการใช้พื้นที่ให้เป็นไปในรูปแบบของการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนเพื่อให้มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด โดยมีแนวทางคือยืนยันนโยบายของรัฐไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรณีอยู่อาศัยทำกินมาก่อนวันประกาศเขตสงวนหวงห้ามและเป็นพื้นที่ไม่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้อยู่อาศัยทำกินที่เดิมมีการจัดขอบเขตให้ชัดเจน แต่หากเป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศให้ช่วยเหลือตามความเหมาะสม เพื่อให้หาที่อยู่ทำกินแห่งใหม่หรือให้เคลื่อนย้ายออกไปยังที่รองรับสนับสนุนสาธารณูปโภค คุณภาพชีวิตและอาชีพ  แล้วฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ที่ราษฎรเคลื่อนย้ายออกแล้ว ส่วนกรณีที่อยู่อาศัยทำกิน ภายหลังวันประกาศเขตป่าให้เคลื่อนย้ายออกไปพื้นที่รองรับสนับสนุนสาธารณูปโภค หากเคลื่อนย้ายไม่ได้ทันทีให้ควบคุมพื้นที่ และจัดระเบียบให้เพียงพอกับการดำรงชีพ ทั้งนี้การเข้าครอบครองทำกินก่อนมติครม.  30 มิ.ย.41 ในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายเป็นการอยู่เพื่อดำรงชีวิตมิได้มีสถานะทางกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายที่จะอนุญาตหรือรับรองให้ราษฎรใช้พื้นที่ได้จึงไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตรับรองใดๆ เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลได้

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าตามกฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรฯมีพื้นที่ป่ามีพื้นที่ป่าตามกฎหมายทั้งหมด 135 ล้านไร่ ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนกว่า 23.5 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุทยานฯกว่า  1.8 ล้านไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 7 แสนไร่  เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 5 แสนกว่าไร่และป่าสงวนแห่งชาติฯ กว่า 19 ล้านไร่  เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีประชาชนมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้สำรวจตามมติครม. 30 มิ.ย. 41 โดยกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายแล้วพบว่ามีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า จำนวน 150,622 ราย จำนวน 211,923แปลงเนื้อที่ 1,434,842 ไร่ ผลการตรวจสอบพิสูจน์การครอบครองที่ดิน อยู่ก่อนประกาศเขตป่าจำนวน 67,037 ราย เนื้อที่ 89,911 แปลง พื้นที่ 499,980 ไร่อยู่หลังประกาศเขตป่า จำนวน 87,560 ราย เนื้อที่ 127,050 แปลง จำนวน 984,844ไร่ 

ขณะที่จากการสำรวจพบว่าระหว่างปี 2551-2555ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯประกอบด้วย พื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่ามีการเข้าไปปลูกพืชเศรษฐกิจของราษฎร โดยเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา เนื้อที่ประมาณ 1,081,338ไร่ข้าวโพด 682,925 ไร่ มันสำปะหลัง 577,231 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 103,855 ไร่ และอ้อย 91,555ไร่รวม 2,536,906 ไร่  ขณะที่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ ถูกบุกรุกปลูกยางพารา  4,029,138ไร่ข้าวโพด 2,572,499 ไร่ มันสำปะหลัง 1,242,311 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 568,626 ไร่ อ้อย 898,088ไร่รวม 9,310,665 ไร่


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์