เปิดความเห็นแย้งของ "อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา" คดี 99 ศพ
เปิดความเห็นแย้งของ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คดี 99 ศพ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง เปิดความเห็นแย้งของ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คดี 99 ศพ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ส.ค. ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดประชุมคดีและตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความและคณะ โดยมีกลุ่มอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ กปปส. เช่น นายเทพไท เสนพงศ์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข มาร่วมฟังคำสั่ง และให้กำลังใจทั้งสองด้วย
ศาลอ่านคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้ชุมนุม ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต เป็นการ ออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
คดีนี้มีข้อที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยทั้ง 2 มีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ระบุให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต้องยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อวิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 เห็นได้ว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญา ไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในคดีนี้ นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา จากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ในการฟ้อง หากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสอง ก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดในการใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องของอัยการโจทก์ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด โดยนายอภิสิทธิ์เดินทางกลับพรรคทันที เพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ
ด้านนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนจะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐานนำสืบคดีที่ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ กับพวก ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์วันนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย
ส่วนนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายญาติผู้ตาย กล่าวว่า จากคำพิพากษายกฟ้องที่เห็นว่า การสั่งการให้เกิดการตาย เป็นการเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่จากความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รวมทั้งฝ่ายโจทก์อธิบายและยกตัวอย่างหลายคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา เนื่องจากการฆ่าคนตายไม่ใช่อำนาจหน้าที่ คำพิพากษาวันนี้เหนือความคาดหมาย เพราะตนดูข้อกฎหมายแล้ว เชื่อว่าอยู่ในอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาได้ ตามความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
"หลังจากนี้อัยการโจทก์และตนในฐานะทนายของโจทก์ร่วมจะยื่นอุทธรณ์ให้ศาลพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญา ส่วนอัยการก็มีอำนาจฟ้อง และดีเอสไอมีอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา คาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน" นายโชคชัยกล่าว