ศาลอาญายกฟ้อง คดี อภิสิทธิ์-พระสุเทพ สั่งสลายแดง

ศาลอาญายกฟ้อง คดี อภิสิทธิ์-พระสุเทพ สั่งสลายแดง


ศาลอาญายกฟ้อง คดี "อภิสิทธิ์-พระสุเทพ" สั่งสลาย นปช.ปี 53-ชี้อยู่ในอำนาจ ปปช.


วันที่ 28 ส.ค.57 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดประชุมคดีและฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 50 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร อายุ 64 ปี เลขาธิการ กปปส. อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบมาตรา 80, 83 ,84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.- 19 พ.ค.53 

กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.53 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิง มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
 
โดยวันนี้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความและคณะ ขณะที่มีกลุ่มอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ กปปส. มาร่วมฟังคำสั่ง และให้กำลังใจทั้งสองด้วย
 
ขณะที่ศาลพิจารณาพฤติการณ์จำเลยทั้งสองตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ ประกอบข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ที่ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 

ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.53 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ 

ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ. ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง ญาติผู้ตายที่เป็นเสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีในคดีนี้นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นเสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ 

เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา จากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย 

ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน 

อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสอง ก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บว่าด้วย ป.ป.ช. น มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด ซึ่งหากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการโจทก์นี้ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
 
ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ โดยนาย นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางกลับพรรคทันทีเพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ
 
ด้านนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนก็จะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐาน นำสืบคดีที่ได้ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวกซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์วันนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย 
 
ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ รักษาการอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะกล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ที่ไม่ค่อยได้เกิด ดังนั้นตนยังกล่าวอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลาคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนดังกล่าว ปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุปตนจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง
 
สำหรับนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด ซึ่งอดีตเป็นอัยการสูงสุด ที่สั่งให้ฟ้องคดีดังกล่าวตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า ขอให้ไปสอบถามผู้รับผิดชอบสำนวนขณะนี้ดีกว่า 
 
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต ที่ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีด้วยนั้น กล่าวว่า จะตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลอาญาวันนี้ต่อไป

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์