ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ดำเนินการควบคุมตัวเครือข่ายประชาชน 11 จังหวัดภาคใต้ 11 คน ไปยังค่ายเสนาณรงค์โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมซึ่งเกินกว่าห้าคน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ซึ่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ร่วมกันเดินเท้าจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาสู่กรุงเทพมหานครเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อการปฏิรูปพลังงานในนามของ "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน"อันเป็นวันที่สองของกิจกรรม
นอกจากนี้ยังพบว่าหลายกิจกรรมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่สามารถจัดได้เช่นเดียวกัน ดังเช่น กิจกรรม Light up Night ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ตอนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซ่า ซึ่งแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้วางแผนจัดงานในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 แต่กลับได้รับการแจ้งจากหน่วยทหารในจังหวัดเชียงใหม่ให้ระงับกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากเป็นการละเมิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรข้างท้ายนี้เห็นว่าพฤติกรรมในการคุกคามต่อการจัดกิจกรรมของประชาชนของเจ้าหน้าที่ทหารมีลักษณะเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและอาจก่อให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้
1.บุคคลย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง มีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท ตามข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตาม ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ทหารห้ามประชาชนในการจัดกิจกรรมต่างๆทั้งการเดินเท้าของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน การจัดกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล หรือกิจกรรมอื่นๆในทำนองเดียวกัน ย่อมเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว
2.การห้ามกิจกรรมต่างๆของเจ้าหน้าที่ทหารนั้นนอกจากจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อีกนัยหนึ่งคือการจำกัดสิทธิของประชานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือการห้ามแสดงออกนั้นไม่ได้มีผลกระทบเพียงผู้ที่ถูกห้ามกิจกรรมแต่ยังส่งผลต่อความรับรู้ของประชาชนอื่นๆซึ่งอาจจะได้จากการกิจกรรมนั้นด้วย
3.นอกจากนี้การห้ามกิจกรรมดังกล่าว ยังส่งผลเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนกลุ่มอื่นที่ต้องการแสดงออก หรือต้องการนำข้อเสนอของตนสู่สาธารณะ อันเป็นผลให้ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสังคม แต่กลับถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม หรืออาจทำได้เพียงยื่นข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรข้างท้ายนี้ เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพซึ่งได้รับรองในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยมาตลอด และเป็นเสรีภาพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ประชาชนไม่มีตัวแทนในการนำเสนอปัญหาไปยังรัฐสภาโดยตรง การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำข้อเสนอไปสู่การถกเถียง หรือนำไปสู่การปฏิรูปประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งและไม่อาจละเลยได้หากผู้มีอำนาจต้องการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดยุติการคุกคามประชาชนในการจัดกิจกรรม การแสดงออกอันเป็นการยืนยันว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม