เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.)
แถลงภายหลังการประชุมวิปสนช.ชั่วคราวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการกำหนดหลักเกณฑ์และให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ โดยมีมติให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ต้องอยู่ในที่ประชุมก็ได้
นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น
จะเริ่มที่การเสนอชื่อโดยให้สมาชิกเสนอบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า1 ใน 5 โดยการรับรองจากมีวิธีการแตกต่างกับส.ส.และส.ว. เพราะจะใช้วิธีโหวตโดยใช้เครื่องออกเสียงแทนการยกมือรับรอง เพื่อป้องกันการโหวตซ้ำ
จากนั้นเมื่อได้ชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เลขาธิการวุฒิสภาจะขานชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรเพื่อลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี 2 กรณี คือ หากมีผู้ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว สมาชิกจะขานเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ในกรณีที่มีผู้ถูกเสนอชื่อมากกว่า 1 คน จะให้สมาชิกขานชื่อบุคคลที่จะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย
ทั้งนี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 99 คน จากจำนวนสมาชิก 197 คน
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการตกลงกันว่า การประชุมของสมาชิก สนช. จะมีการประชุมกันในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ในทุกๆสัปดาห์ และจะมีการประชุมวิป สนช. ในวันอังคารช่วงบ่าย ทั้งนี้เพื่อสอดคล้องกับการประชุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หรือคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อไปซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์หน้า
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลหากถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ตนมีความคิดเห็นเหมือนกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศว่าเหมาะสม ส่วนเรื่องความชอบธรรมนั้น เรื่องนี้คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์
ที่จริงสามารถใช้อำนาจแต่งตั้งตัวเองได้ แต่กลับให้ผ่านความเห็นชอบจากสนช.ตามกฏหมาย
ทั้งนี้หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามความคาดหมาย ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ต่อจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557