“ อภิสิทธิ์ ”ฟันธง “ ประยุทธ์ ”ลอยลำนั่งนายกฯ

“ อภิสิทธิ์ ”ฟันธง “ ประยุทธ์ ”ลอยลำนั่งนายกฯ

“ อภิสิทธิ์ ”ฟันธง “ ประยุทธ์ ”ลอยลำนั่งนายกฯ ตามแผนเดินสู่ความสำเร็จ แนะกมธ.งบฯถก 3 ประเด็น หวังประคองเศรษฐกิจ วอนสร้างความโปร่งใส

วันที่19 ส.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.) 

มีวาระเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ว่า ตอนนี้เป็นที่คาดหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหลักสำคัญที่หัวหน้าคสช.ต้องมอบ คือ ต้องทำเพื่อให้เดินไปสู่ความสำเร็จส่วนที่มองว่า อาจขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดให้หัวหน้าคสช.คานอำนาจกับนายกรัฐมนตรีนั้นส่วนตัวมองว่า เราอยู่ในระบบที่มีความผิดปกติ และมีข้อยกเว้นอยู่แล้วดังนั้นการตัดสินใจของคสช.ต้องมุ่งว่าทำอย่างไรเพื่อจะทำให้เกิดควาสำเร็จ และสิ่งที่รัฐบาลและคสช.ต้องเร่งคือการวางโจทย์การปฏิรูปให้ชัด เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกันเพราะที่ผ่านมามีการสะท้อนปัญหาแต่ยังไม่ได้กำหนดทิศทางการปฏิรูป

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 

ที่มีข่าวการล็อกเสปกการสรรหารในระดับจังหวัดว่าในพื้นที่จะทราบดีและเมื่อถูกวิจารณ์ก็อยากให้ทุกฝ่ายแสดงความโปร่งใสว่าการสรรหาในแต่ละจังหวัดดำเนินการกันอย่างไรส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่เสนอชื่อเข้าไปเป็นสปช.อาจจะยังไม่ได้มีความมั่นใจหลายอย่าง ซึ่งเรื่องนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องประเมินว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดมีคนสมัครเท่าใดเพราะหลายคนรอมาสมัครในช่วงท้าย ๆ จึงอาจต้องปรับแก้ในหลายอย่าง โดยอยู่ในวิสัยที่ทำได้ทั้งนี้ตนมีข้อห่วงใยมากเพราะจากการดูรูปแบบแล้วตัวสปช.มีอำนาจเพียงแค่เสนอแนะกับศึกษาเท่านั้นแต่งานหลายอย่างที่ต้องเดิน เช่นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน กว่าจะมีสปช.เข้ามาทำงานทางครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจดำเนินการไปแล้วก็ได้ซึ่งหัวหน้าคสช.อาจต้องทำให้ชัดเจนขึ้นว่าการปฏิรูปเรื่องใดที่ต้องรอสปช. หรือเรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้เลย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรายจ่าย 2558 ในวาระ 1 ว่า
 
มีข้อเป็นห่วงคือ มีงบจำนวนมากที่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะต้องไปใช้หนี้เก่าจากโครงการประชานิยมกว่า1 แสนล้านบาท ถือเป็นปัญหาสำคัญที่งบประมาณปี 58 ต้องเผชิญ ซึ่งไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นใด ๆ ทั้งสิ้นต่อระบบเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะในชนบท ที่ในขณะนี้ประสบกับปัญหากำลังซื้ออยู่แล้วจากราคาพืชผลที่ตกต่ำ ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยากที่จะเพิ่มขึ้น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่มีความชัดเจนในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯฉบับนี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จึงเห็นว่าการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯควรจะครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้

1.ประเมินภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นจากโครงการเก่าให้ชัดเจนเพื่อตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารทางการเงินการคลังในระยะกลางว่าศักยภาพของการใช้จ่ายของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด 2.ปรับลดงบประมาณในโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ตามที่หัวหน้าคสช.ได้ยืนยันว่า น่าจะสามารถกระทำได้จากการขจัดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และ 3. นำงบประมาณที่ปรับลดได้มาจัดสรรในโครงการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจในชนบทโดยปรับปรุงโครงการหลายโครงการที่เคยดำเนินการในอดีต  เช่น โครงการประกันรายได้ เพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นฐาน และ นำวงเงินที่ปรับลดได้อีกบางส่วนสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในเรื่องน้ำ และระบบคมนาคมขนส่งโดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินนอกงบประมาณ

หากรายละเอียดโครงการยังไม่พร้อมก็อาจจัดทำในรูปของงบประมาณกลางปีได้ นอกจากนี้อยากให้การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นไปโดยเปิดเผยและโปร่งใสมากที่สุด เพราะมีเวลาจำกัดในการพิจารณาวงเงินมหาศาลซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสเท่านั้นจะทำให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะที่สองของโรดแม็พ.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์