"บิ๊กตู่" วิพากษ์การศึกษา ตำหนิตำราเด็ก ป.1 ยากไป "ผมเองยังตอบไม่ได้" ปราม "รับน้อง" อย่าแรงเกิน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2557
"การศึกษา ผมพยายามพูดหลายครั้ง ไม่ใช่จะไปละเมิดท่าน ไม่ได้ไปละเมิดกระทรวงศึกษาฯ หรือทุกคน บุคลากรทางการศึกษา คุณแม่ผมเป็นครู แต่ครูนั้นกับครูนี้อาจจะคนละสมัยกัน ผมก็เป็นห่วง อนาคตของชาติ อยู่ที่การศึกษา คิดว่าคนทั้งประเทศเข้าใจ แต่จะทำอย่างไร เราจะดูทั้งระบบ ตั้งแต่เล็กจนโต ให้ต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาพื้นฐาน การศึกษาต่อ อาชีพ รายได้ ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องช่วยกระทรวงศึกษาฯ ด้วย ว่าผลิตออกมาแล้วจะทำอย่างไร จะรับเข้าไปทำงานอย่างไร มีความร่วมมือระหว่างกัน มีโครงการร่วมกัน และบรรจุเข้าเป็นข้าราชการ หรืออะไรก็แล้วแต่ หางานให้เขาทำ ไม่ใช่สิ่งที่เขาเรียนมา เขาจบมาไม่จ้าง ไปจ้างใครก็ไม่รู้มา คนจะได้เข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น เพราะมีงานทำ แต่ถ้าไปจ้างคนที่ไม่มีงานทำ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ได้อย่างเสียอย่าง ไม่ได้ต้องการให้ไปยกเลิก ก็ลำบากเหมือนกัน แต่ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลกันระหว่างนี้ คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ
"คนที่เรียนหนังสือ จะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการดูแลจากพวกเรา เรื่องตำราเด็กเหมือนกัน เดี๋ยวนี้มีความทันสมัย วันนั้นเห็นตำราเด็ก ป.1 นำมาให้อ่าน ผมว่ายากไป บางอันผมตอบไม่ได้เหมือนกัน เด็ก ป.1 วิชาสังคม อะไรสักอย่าง จะต้องเขียนคำตอบยาว ๆ เด็ก ป.1 ผมว่ายังเขียนหนังสือไม่เก่ง ถ้าต้องเขียนคำยาว ๆ ผมว่าลำบาก ต้องบูชาพระรัตนตรัยก่อนนอน ผมยังเขียนไม่ได้ ป.1 ยังไม่รู้เรื่องเลยตอนเด็ก ๆ ยากไปหรือไม่ ไปทบทวนดู ตำราที่นำมาให้ต้องเขียนลงไป ตอบลงไปในนั้น แล้วลายมือเด็ก ๆ เขียนยังไม่เป็นตัวอะไรทั้งนั้น นั่นคือตำราที่เขาส่งมาให้ผมดู คือลูกเขาเขียนมา ยังไม่ได้ตรวจ เขียนหนังสือยังไม่เป็นตัวอักษรเลย แต่ตอบคำถามต้องเขียนยาวอย่างนี้ ต้องมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บางที่ก็เป็นชื่อในวรรคดีไทย จำได้เด็ก ๆ กว่าจะได้เรียนเรื่องนี้ ผมก็โต ยังพอจำได้อยู่บ้าง ลองไปทบทวนดู แต่ถ้าทำดีแล้ว ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
ถ้ายากเกินไปเด็กก็จะไม่ต้องการเรียนหนังสือ เพราะกลัวตอบไม่ได้ สอบไม่ได้ เลยไม่ต้องการเรียนหนังสือ
นี่คือสิ่งหนึ่ง ท่านต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนหนังสือ เพราะเข้าใจง่าย จำง่าย ท่องง่าย แล้วค่อยไปเพิ่มระดับความยากขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีละขั้น ๆ ไป พวกเราถูกแยกอยู่แล้ว ระดับมันสมองไม่เท่ากัน คนหนึ่งสามารถเรียนต่อได้ ไปต่างประเทศได้ เป็นด็อกเตอร์ได้ อีกพวกยังเป็นด็อกเตอร์ไม่ได้ ท่านจะทำอย่างไรให้พื้นฐานคนเท่ากันก่อน ถึงเวลาเขาจะรู้ตัวเองว่าเขาจะไปไหน ใครจะเลิกไม่เรียนต่อ ใครจะไปทำงาน ใครจะไปเรียนหนังสือ ขึ้นอยู่กับฐานะพ่อ – แม่ ด้วย ฉะนั้นดูให้ครบทั้งระบบ ดูถึงข้างล่างผู้บังคับบัญชาต้องดูถึงข้างล่างเกี่ยวกับตำรา เอกสาร หลักสูตร กำกับดูแล ครูทุกคนเสียสละอยู่แล้ว ก็เป็นห่วงครู เรื่องหนี้สินครู เรื่องอะไรอีกมากมาก ก็ต้องช่วยกันปรับแก้ในระยะที่ 2 การปฏิรูป ไม่ได้ลืมครู เพราะครูเป็นข้าราชการเป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นผู้เสียสละ ลำบากยากเข็ญอย่างไรก็อดทน วันนี้ถ้าปรับวิธีการสอนของท่านให้ง่ายขึ้น เบาลง จะได้ดูแลเด็กได้มากขึ้น มีเวลาไปทำอะไรได้บ้าง เพราะท่านก็มีลูกเหมือนกัน ไม่ใช่สั่งสอนเด็กอย่างเดียว ถึงบ้านก็ไม่ไหวแล้ว หงุดหงิด เดี๋ยวต้องไปสอนพิเศษอีก เพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูก มันพันกันไปหมด ฉะนั้นดูให้ครบระบบ ทั้ง ครู เด็ก ผู้ปกครอง ถ้าสามคนพอใจกันทั้งหมด ประเทศก็จะไปได้ การศึกษาก็ดีขึ้นตามลำดับ ทำอย่างไร คนจะเข้าระบบการศึกษาให้มากขึ้น ไม่ใช่ผลักให้คนออกไปนอกระบบการศึกษา เลิกเรียน เพราะว่าเรียนไม่ไหว ไปดูใหม่"
นอกจากนี้ หัวหน้าคสช. ยังพูดถึงประเด็นการรับน้องในสถาบันการศึกษา
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม โดยขอให้อยู่ในกรอบกติกาที่กำหนด ข้อสำคัญคือไม่เป็นอันตราย ไม่โลดโผน หรือเป็นการบีบบังคับรุ่นน้อง
"ท่านไม่ใช่หลักสูตรทหาร แม้กระทั่งหลักสูตรวันนี้ ทหาร ผมยังให้ปรับปรุงไปแล้ว ให้ลดระดับลง ท่านต้องให้รุ่นน้องเคารพรักรุ่นพี่ด้วย ความศรัทธาในการกระทำที่ดีงาม เป็นตัวอย่างให้เขา อะไรที่ไม่ดี อะไรที่เราเคยถูกกระทำมา สมัยเราเรียน รุ่นพี่เคยทำไว้เราก็ไม่ชอบ ฉะนั้นอะไรที่เราไม่ชอบ อะไรที่ไม่ดีเราก็อย่าทำอีกอย่าไปทำอีก รุ่นน้องทำให้เขามีความอบอุ่น พี่รักน้องนะ การทำร้ายร่างกาย การทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อการบาดเจ็บสูญเสีย และเขาก็กลัวไปหมด เรียนหนังสือก็เรียนไม่ได้ ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรเลย ทหารก็ดีอีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของหลักสูตรทางทหารก็ต้องฝึกให้เข้มแข็งทั้งร่างกาย จิตใจ เรายังคงต้องลดระดับลงให้อยู่ในกรอบไม่เกิดอันตราย ขอท่านอย่าทำเลยคนละแบบกัน"