ไชโย ดีใจจัง ที่ได้เห็นการ "คิกออฟ" ปฏิรูปประเทศไทย "วันประวัติศาสตร์" ไม่เคยมีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นับเป็นบุญวาสนาได้เกิดมายุคนี้
แต่จะว่า 82 ปี ไม่เคยมีปฏิรูปคงไม่ใช่มั้ง เราปฏิรูปประเทศปฏิรูปการเมืองมาทุกสมัย ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ก็ 14 ตุลา พฤษภา 35 รัฐธรรมนูญ 40 แม้กระทั่งสงครามสี มองแง่ดีคือพัฒนาประชาธิปไตยครั้งยิ่งใหญ่ คนเกินครึ่งประเทศเอาเป็นเอาตายอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง นี่สิไม่เคยเห็นมาก่อนจริงๆ
กระนั้นก็จริงว่ามีบางสิ่งไม่ เคยปฏิรูป ตั้งแต่ก่อตั้งรัฐชาติสมัย ร.5 นั่นคือระบบบริหารราชการแผ่นดิน กับทางรถไฟ 2 อย่างนี้อยู่มาร้อยกว่าปีไม่เคยเปลี่ยน
บางคนอาจเถียงว่าเราปฏิรูประบบราชการตั้งหลายครั้ง จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นแค่การเพิ่มส่วนราชการให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป แต่โครงสร้าง หลักคิด วิถีปฏิบัติ วัฒนธรรม ไม่เคยเปลี่ยน "ระบบราชการ" ยังไงก็ยังงั้น ยังรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง ยังสั่งการจากบนลงล่าง ยังอยู่ใต้ทัศนะความมั่นคงแบบหนึ่งเดียว ยังติดกรอบประเพณี ระเบียบหยุมหยิม เทอะทะ ปรับตัวยาก และท้ายที่สุดก็เน่าใน
อ้าวก็ที่ประณามคอร์รัปชั่นระบาดทุกวงการ จะโทษนักการเมืองฝ่ายเดียวข้าราชการไม่เกี่ยวหรือ
รัฐราชการสร้างขึ้นสมัยร.5 เพื่อความเข้มแข็งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงเพิ่งก่อตั้งรัฐชาติและ ต้องปกป้องตัวเองจากนักล่าอาณานิคม ร้อยกว่าปีผ่านไปการเมืองการปกครองเปลี่ยนแต่โครงสร้างนี้ไม่เปลี่ยน หลัง 2475 คณะราษฎรมีอำนาจสั้นๆ แล้วปกครองโดยรัฐทหาร ซึ่งยิ่งรวมศูนย์อำนาจในยุคสงครามเย็น เมื่อนักการเมืองจากเลือกตั้งขึ้นมามีอำนาจ ก็รับช่วงรัฐ Bureaucracy ไปสั่งซ้ายหันขวาหัน โครงสร้างอำนาจจากศูนย์กลางทำให้ผู้ชนะเลือกตั้งกินรวบเป็น Zero Sum Game เสียงข้างน้อยหรือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แทบไม่มีโอกาสทัดทานการตัดสินใจ
ทิศทางปฏิรูปประเทศไทยวันนี้ จึงต้องปฏิรูประบบราชการและกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์อำนาจ นี่ไม่ได้จำขี้ปากนักวิชาการเสื้อแดงที่ไหน แต่ ศ.จรัส สุวรรณมาลา ผู้อยู่ข้างเวที กปปส.ท่านเรียกร้องตลอดมา เสียดายพวกเรียกหา "สภาประชาชน" คนอื่นๆ ไม่รู้หายไปไหน หรือมัวดีใจที่ได้ สนช.
ทิศทางปฏิรูปประเทศไทยวันนี้ต้องลดอำนาจนักการเมือง ใช่ แต่พูดให้ถูกก็คือลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่ Retro กลับไปเพิ่มอำนาจให้รัฐราชการ
มันประหลาดที่คนส่วนหนึ่งคิด สวนทาง เกลียดนักการเมืองแล้วเห็นข้าราชการสัตย์ซื่อเสียสละ เห็นเป็นระบบคุณธรรมมีความรู้ความสามารถ ขอเพียงขจัดอำนาจจากเลือกตั้ง ประเทศชาติจะวัฒนาสถาพร
การขจัดอำนาจนักการเมืองในมิติ ประชาธิปไตยก็คือขจัดอำนาจประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขจัดอำนาจตัวเอง ไม่ว่าห้ามนักการเมืองเสนอนโยบาย ห้ามแต่งตั้งโยกย้าย แม้ในความเป็นจริงนักการเมืองใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ทำไมไม่คิดไปข้างหน้า ออกแบบหาวิธีให้นักการเมืองเป็นตัวแทนผลประโยชน์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำไมคิดถอยหลัง โค่นนักการเมืองให้ระบบราชการเป็นใหญ่
ระบอบการปกครองเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ Vintage ที่จะกลับไปบ้าเห่อกันได้ นี่มันเรื่องโครงสร้างไม่ใช่ของแต่งบ้านให้ดู "เป็นไทย"
ทิศทางปฏิรูปประเทศจึงต้องกระจายอำนาจให้องค์กร ปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่แช่แข็งองค์กรปกครองท้องถิ่น ต้องเพิ่มอำนาจให้ดูแลบริการพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม บรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ โดยไม่คิดแบบราชการว่า นักการเมืองท้องถิ่นซื้อเสียงโกงกิน "ประชาชนผู้โง่เขลา" ดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยจะเห็นผลทันตาเมื่อเป็นผลประโยชน์ใกล้ตัว เมื่อเป็นโรงเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ บ่อขยะข้างบ้าน ฯลฯ จะไม่รู้จักใช้สิทธิเลือกตั้งก็ให้รู้ไป
ทิศทางปฏิรูปประเทศ จึงต้องปฏิรูประบบราชการ ไม่ใช่มัวปลูกฝัง "คุณธรรม" แต่ต้องสร้าง "ประชาธิปไตยในองค์กร" ปฏิรูปโครงสร้างและวัฒนธรรมขุนนาง "นายสั่ง" จากบนลงล่าง ให้มีการมอบอำนาจ แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ สามารถตรวจสอบจากล่างขึ้นบน คิดความดีความชอบจากผลงาน ไม่อย่างนั้น ขจัดอำนาจนักการเมืองแต่งตั้งโยกย้าย แต่ "นาย" ยังเล่นเส้นสายอุปถัมภ์ จะมีประโยชน์อะไร
ทัศนะ "เจ้าคนนายคน" อาจลดลงไม่เหมือนสมัยผมเป็นเด็ก แต่ระบบราชการก็ยังมี "นาย" มี "ท่าน" ไปตรวจงานต่างจังหวัดต่างกับนักการเมืองตรงไหน ลูกน้องยังต้องแห่มาต้อนรับหัวคำนับมือกุมไข่ นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย ไม่ต้องการรัฐที่ใหญ่โต รวบอำนาจ ตัดสินแทนประชาชนแทบทุกอย่างแบบ "คุณพ่อรู้ดี" อันนี้ไม่ควร อันนั้นไม่เหมาะ ทีหลังอย่าทำ ประชาธิปไตยต้องการรัฐที่กะทัดรัด มีประสิทธิภาพ บริการประชาชนให้ตัดสินผลประโยชน์ วิถีชีวิต อนาคต ของตัวเอง
เราพัฒนาประชาธิปไตยมาไกลจนประชาชนนับสิบๆ ล้านคน ลุกฮือขึ้นมาขัดแย้งกันทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างอยากมีอำนาจตัดสินใจ แล้วอยู่ๆ จะกลับไปเป็น "ผู้ถูกปกครอง" อย่างมีความสุข อย่างนั้นหรือ